พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
Abstract
สรุป
วิวัฒนาการของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชี้ให้เห็นการขยายตัวของการใช้อินเตอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์ในระดับโลกซึ่งเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์จากการสำรองบริการ และการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นอกเหนือจากการเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายและสร้างโอกาสทางการตลาดระดับโลกให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถึงแม้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากจะไม่ประสบความสำเร็จและเลิกกิจการ แต่พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจและความสัมพันธ์ของหน่วยธุรกิจและความสัมพันธ์ของหน่วยธุรกิจในสายโซ่การผลิตในปัจจุบันและอนาคต
การศึกษาตัวแบบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทำให้ทราบแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังจัดทำเว็บไซต์เพื่อการประชาสัมพันธ์ ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กอาจจัดทำเว็บไซต์แล้วขายสินค้าบริการเอง (Direct marketing) หรือนำเว็บไซต์ไปฝากกับเว็บไซต์ของศูนย์การค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) หรือเว็บท่า (Portal) ธุรกิจท่องเที่ยวที่เน้นการให้บริการโดยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะพัฒนาเว็บไซต์เป็นเว็บท่าหรือนายหน้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-broker) หรือศูนย์การค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ที่นำผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน เป็นตัวแทนจำหน่ายอิเล็กทรอนิกส์ (E-distributor) โดยรับผิดชอบการทำธุรกรรมให้กับสมาชิก หรือเป็นเครือข่ายระหว่างหุ้นส่วนทางธุรกิจ การขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ก่อให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจท่องเที่ยวส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยบางส่วนอาจต้องสูญเสียตลาด เช่น บริษัทท่องเที่ยวขนาดเล็กที่ไม่สามารถจัดการท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche market) บริษัทท่องเที่ยวขนาดกลางซึ่งมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะจัดบริการท่องเที่ยวในตลาดเฉพาะแต่เล็กเกินกว่าจะแข่งขันธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ระดับโลก บริษัทท่องเที่ยวที่สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์รายใหม่และเจ้าของสินค้าและบริการที่ต้องการขายตรงให้กับนักท่องเที่ยว บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ที่ไม่มีการลงทุนเพียงพอสำหรับดึงดูดลูกค้าหรือลงทุนมากเดินไปแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน
แนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคตมีลักษณะสามประการคือ ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กจะมีความได้เปรียบในตลาดสินค้าเฉพาะ ตลาดท่องเที่ยวทั่วไปจะถูกครอบคลุมโดยบริษัทท่องเที่ยวขนาดใหญ่ และธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กที่ไม่สามารถปรับตัวได้ในตลาดท่องเที่ยวแบบใหม่จำนวนมากจะต้องออกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ระดับโลก เช่น Expedia, Travelocity มีแนวโน้มขยายตัวให้ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลาดท้องถิ่น และตลาดสินค้าเฉพาะผลกระทบจากการขยายฐานธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยทำให้ตัวแทนการเดินทางขนาดเล็กและขนาดกลางไม่สามารถแข่งขันได้ทำให้ต้องเลิกกิจการหรือส่วนหนึ่งอาจจะเข้าเป็นบริษัทในเครือของธุรกิจออนไลน์ต่างชาติ ประเทศอาจจะสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้าให้กับธุรกิจข้ามชาติ และนักท่องเที่ยวไทยอาจจะซื้อสินค้าและบริการผ่านบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ต่างชาติมากขึ้น
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพาณิชย์เชิงอิเล็กทรอนิกส์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเนื่องจากมีความพร้อมในด้านทรัพยากรมีฐานข้อมูลและสาระที่มีคุณภาพ ได้รับความเชื่อถือทั้งในระดับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ปัจจุบัน ททท.ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อใช้เป็นเป็นกรอบในการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย
ถึงแม้ว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันยังมีบทบาทไม่เด่นชัดมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตกแต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องการให้ความสนใจและเตรียมพร้อมที่จะหามาตรการรองรับ เพราะโดยปกติการรับเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจมักจะสร้างปัญหาทั้งสองด้านคือ เทคโนโลยีที่รับอาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ตามที่คาดหวังคุ้มค่ากับการลงทุน แต่การละเลยหรือรอเวลาก็อาจจะสูญเสียการตลาดให้กับคู่แข่งที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าอย่างสิ้นเชิง
Downloads
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่