ผลกระทบของโรคไหม้คอรวงและประสอทธิภาพการผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105

Authors

  • รศ.ดร. อารี วิบูลย์พงศ์
  • ดร. ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์
  • อ.พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ
  • ประทานทิพย์ กระมล

Abstract

สรุป

ในปี 2542 เป็นปีการผลิตที่มีภูมิอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีในทุกพื้นที่ และมีการระบาดของโรคไหม้คอรวงน้อย การเกิดโรคมีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ในเชียงใหม่พบว่าระดับของโรคไหม้สูงที่สุด คือ เฉลี่ยร้อยละ 26.37 ของจำนวนรวงต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยมีค่าสูงสุดของโรคไหม้ร้อยละ 66.67 ในพิษณุโลกระดับความรุนแรงของโรค โดยเฉลี่ยร้อยละ 21.15 และสูงสุดที่ร้อยละ 61.74 ส่วนทุ่งกุลาร้องไห้มีระดับของโรคต่ำมาก คือ ค่าเฉลี่ยที่ 1.34 และค่าสูงสุดเพียง 9.57 แม้ว่าระดับของโรคไหม้ในเชียงใหม่จะสูงที่สุด แต่ปรากฏว่าน้ำหนักเมล็ดโดยเฉลี่ยมีค่าสูงที่สุดด้วย และไม่ว่าจะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักเมล็ดกับความรุนแรงของโรค โดยรวมทุกพื้นที่หรือแยกเฉพาะพื้นที่ก็ไม่ปรากฏความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

            การประเมินผลผลิตจากอิทธิพลของโรคไหม้คอรวง ร่วมกับปัจจัยการผลิตและสภาวะแวดล้อมต่างๆด้วย stochastic production frontier สามารถแจกแจงผลกระทบของปัจจัยเหล่านี้ได้และพบว่าการเกิดโรคไหม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 0.52 ดังนั้นเมื่อประเมิน ณ ระดับโรคไหม้เฉลี่ยของจังหวัดเชียงใหม่และผลผลิตเฉลี่ยของเชียงใหม่ พบว่ารายได้ของเกษตรกรจะลดลง 442 บาท/ไร่ และในปีที่มีการระบาดของโรคไหม้รุนแรงนั้น มูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 552 – 1,048 ล้านบาท

            ผลกระทบจากฝนแล้งรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีภัยแล้งนั้น ทำให้ผลผลิตลดลงได้ถึงร้อยละ 35 แต่การมีน้ำชลประทานสามารถเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 15 ในขณะที่ความได้เปรียบของสภาพทั่วไปในเชียงใหม่สามารถให้ผลผลิตสูงกว่าพิษณุโลกและทุ่งกุลาร้องไห้ร้อยละ 17

            ประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรตัวอย่างในทุกพื้นที่เฉลี่ยอยู่ในระดับ 0.70 สัดส่วนของเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพระดับ 0.61 – 1.0 มีร้อยละ 76 ของจำนวนตัวอย่าง และพบว่าเกษตรกรในเชียงใหม่มีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงที่สุด รองลงมาคือเกษตรกรในทุ่งกุลาร้องไห้และพิษณุโลกตามลำดับ

            เกษตรกรร้อยละ 80 เข้าใจว่าตนเองรู้จักโรคไหม้คอรวง แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรสามารถระบุอาการและลักษณะของโรคไหม้คอรวงได้ประมาณร้อยละ 40 และสามารถระบุสาเหตุของเกิดโรคได้เพียงร้อยละ 8 เท่านั้น มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 27 ที่แก้ปัญหาเมื่อพบโรคไหม้ โดยส่วนใหญ่แก้ปัญหา 6 – 15 วัน หลังจากสังเกตเห็นโรค วิธีแก้ปัญหาของเกษตรกรที่สำคัญ คือ การพ่นสารเคมีซึ่งมีทั้งสารกำจัดแมลง และโรคหลากหลายชนิด เมื่อเกษตรกรพบปัญหามักปรึกษากันเองในครอบครัว มีเพียงร้อยละ 10 ที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่เกษตรและผู้เชี่ยวชาญทางโรคพืช ร้อยละ 27 ไม่ปรึกษาใครเลยและการแก้ปัญหาของเกษตรกรนั้นร้อยละ 60 ระบุว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคได้

Downloads