สถานการณ์น้ำในประเทศไทย
Abstract
สรุป
ประเทศไทยมีปริมาณน้ำใช้ภายในประเทศต่อคนในปี 2541 จำนวน 1,845 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของโลกและของเอเชีย แต่ถ้ารวมถึงปริมาณน้ำที่ได้รับมาจากต่างประเทศ เช่น จากแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขงแล้ว ประเทศไทยมีปริมาณน้ำใช้มากถึง 3,003 ลูกบาศก์เมตรต่อคน ซึ่งในภาพรวมแล้วไทยจัดเป็นประเทศที่ยังไม่ขาดแคลนน้ำ แต่ก็มีศักยภาพต่ำกว่าคู่แข่งด้านการเกษตรของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และกัมพูชา นอกจากนี้ไทยยังมีการบริหารการจัดการน้ำโดยกลุ่มเกษตรกรอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอีกด้วย
การวัดภาวะการขาดแคลนน้ำนอกจากจะพิจารณาจากดัชนีปริมาณน้ำใช้ต่อคนของประเทศแล้วยังพิจารณาจากดัชนีอื่นๆอีก 3 ดัชนี คือ 1) ดัชนีการใช้น้ำต่อคน พบว่า ไทยมีดัชนีการใช้น้ำน้อยร้อยละ 29 ของปริมาณหมุนเวียนภายในประเทศรายปี ซึ่งอยู่ในขั้นที่เรียกว่า ต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำอย่างจริงจัง 2) ดัชนีชี้วัดความมั่นคงด้านน้ำ พบว่าไทยมีอัตราส่วนปริมาณน้ำเก็บกักในระดับปานกลางใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา และมีสัมประสิทธิ์ความแปรปรวนของน้ำฝนใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งในการผลิตสินค้าการเกษตร แต่ไทยมีการพึ่งพาการน้ำเข้าน้ำจากต่างประเทศสูงกว่าคู่แข่ง 3) ดัชนีความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ พบว่าไทยมีปัญหาการจัดการระดับปานกลาง แต่ดีกว่าประเทศคู่แข่งในเอเชีย ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ดีกว่าไทยมาก
การใช้น้ำในประเทศของไทยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ 1)การใช้น้ำเพื่อการเกษตร-ชลประทานและปศุสัตว์ 2)การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 3)การใช้น้ำในโรงงานอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว 4)การใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้า 5)การใช้น้ำในการรักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ ซึ่งการใช้น้ำ 3 ประเภทแรกถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ ส่วนสมมติฐานการใช้น้ำในภาคเศรษฐกิจต่างๆของประเทศ จากงานการศึกษาต่างๆ มีดังนี้คือ สถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประมาณการใช้น้ำในภาคเศรษฐกิจต่างๆของประเทศดังนี้คือ ชุมชนชนบทมีการใช้น้ำดื่ม 5 ลิตรต่อคนต่อวัน และใช้น้ำในครัวเรือน 50 ลิตรต่อคนต่อวัน ส่วนชุมชนเมืองแบ่งออกเป็นเมืองขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ในเมืองขนาดเล็กใช้น้ำดื่มและน้ำใช้ในครัวเรือน 120 ลิตรต่อคนต่อวัน ส่วนเมืองใหญ่ใช้น้ำดื่ม-น้ำใช้ในครัวเรือน 250 ลิตรต่อคนต่อวัน สำหรับการเพาะปลูกใช้น้ำประมาณ 2,500-1,600 ลิตรต่อคนต่อวันและใช้เลี้ยงสัตว์ประมาณ 10-130 ลิตรต่อคนต่อวัน ส่วนงานวิจัยของบริษัทพอลคอนซัลแตนท์จำกัดและบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด ประมาณการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคของประชากรในเขตเมืองแบ่งตามขนาดของกลุ่มประชากรโดยมีการใช้น้ำอยู่ระหว่าง 120-300 ลิตรต่อคนต่อวัน ขณะที่การใช้น้ำของประชากรในเขตชนบทเท่ากับ 50 ลิตรต่อคนต่อวันเท่านั้น เป็นต้น
ถึงแม้ว่าในภาพรวมไทยยังไม่ขาดแคลนน้ำแต่ในบางลุ่มน้ำก็เริ่มมีความขาดแคลนน้ำแล้ว การขาดแคลนน้ำเริ่มเกิดขึ้นเป็นประจำมากขึ้นในฤดูแล้งโดยเฉพาะในลุ่มน้ำภาคเหนือตอนบนที่อยู่เหนือเขื่อน
นอกจากเขตต้นน้ำเหนือเขื่อนแล้วลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะเป็นอีกเขตหนึ่งที่มีความกดดันด้านสูง ถึงแม้ว่าน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะอุดมสมบรูณ์กว่าลุ่มน้ำอื่นๆ แต่ความต้องการใช้น้ำก็สูงกว่าลุ่มน้ำอื่นๆ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรค่อนข้างสูงรวมทั้งประชากรมีการขยายพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้น้ำมากเพิ่มขึ้น ทำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและปัญหานี้จะเป็นปัญหาที่มีลักษณะถาวรมากขึ้น ดังนั้นไทยควรมีการบริหารจัดการการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
Downloads
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่