การจัดการกลุ่มสะสมทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบยั่งยืน : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

Authors

  • ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศษสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Abstract

สรุป

1. การดำเนินงานของกลุ่ม

จากการศึกษาโดยใช้วิธีการศึกษาแบบมีส่วนร่วม (PAR) โดยคณะผู้วิจัยได้พาคณะกรรมการกลุ่มฯและสมาชิกผู้สนใจของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสารภี ตำบลทุ่งรวงทอง อำเภอแม่วาง และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์บ้านป่าสักน้อย ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ไปศึกษาดูรูปแบบการดำเนินงานของเครดิตยูเนี่ยน จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนริมออน จำกัด อำเภอสันกำแพง ซึ่งเป็นตัวแทนของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนบ้านขรัวแคร่ ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนประเภทสมทบ หลังจากนั้นคณะกรรมการกลุ่มฯและสมาชิกผู้สนใจได้ตัดสินใจด้วยตนเองที่จะเลือกดำเนินตามรูปแบบของเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งเป็นกลุ่มสะสมทุนที่เหมาะสมและผลการดำเนินงานกลุ่มตัวอย่าง เป็นดังนี้

1) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสารภี หลังจากที่ได้ไปศึกษาดูงาน คณะกรรมการของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตส่วนใหญ่เห็นด้วยในรูปแบบของเครดิตยูเนี่ยนว่ามีความมั่นคง มีรูปแบบการดำเนินงานที่ชัดเจน และสามารถที่จะเป็นสถาบันการเงินของชุมชนได้อย่างแท้จริง แต่ไม่สามารถที่จะถ่ายโอนกิจการของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตไปเป็นกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนได้ เนื่องมาจากมีความผูกพันกับหน่วยงานราชการ ดังนั้นจึงมีมติในที่ประชุม (ผู้ที่ไปศึกษาดูงานและประชนชนที่สนใจในหมู่บ้าน) ตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนขึ้นมาใหม่ และเปิดรับสมัครสมาชิกตั้งแต่เดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา และได้ส่งคณะกรรมการเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการวิจัยเพื่อได้ทราบถึงบทบาทของคณะกรรมการแต่ละฝ่าย รวมถึงการอบรมทางด้านบัญชีตามหลักสูตรของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพราะถึงอย่างไรกลุ่มฯก็จะต้องพัฒนาไปสู่การจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนอยู่แล้ว การดำเนินของกลุ่มเป็นไปด้วยดี มีการจัดทำระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจน โดยยึดหลักการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีการจัดทำบัญชีและเอกสารทางการเงินอย่างเป็นระบบเนื่องจากเหรัญญิกจบการศึกษาระดับ ปวส. ทางด้านการบัญชี การจัดทำบัญชีจึงไม่มีปัญหา การสะสมเงินทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 13.67 ต่อเดือน การขยายตัวของสมาชิกเป็นไปอย่างต่อเนื่องอัตราเฉลี่ยร้อยละ 11.47 ต่อเดือน ในช่วง 5 เดือนแรกยังไม่มีการปล่อยเงินให้สมาชิกกู้เนื่องจากปริมาณเงินทุนยังมีน้อย เงินทุนเรือนหุ้นที่เก็บจากสมาชิกได้นำไปฝากไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งเสี้ยว อำเภอสันป่าตอง

            เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนบ้านสารภี ตอนนี้มีความพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกลุ่มที่แบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบการจัดทำบัญชีและเอกสารทางการเงินเป็นระบบตามหลักของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน การขยายตัวของสมาชิกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เงินทุนเรือนหุ้นที่จัดเก็บจากสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกลุ่มฯมีความพร้อมที่จะจดทะเบียนเป็นกลุ่มสมทบในอนาคตอันใกล้ได้อย่างแน่นอน และจะสามารถพัฒนาไปจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้แน่นอนในอนาคตเพียงแต่รอระยะเวลาเท่านั้น

            2) กลุ่มสัจจะออมทรัพย์บ้านป่าสักน้อย กลุ่มฯได้ไปศึกษาดูงานเช่นเดียวกับกลุ่มฯบ้านสารภีและกลุ่มได้ตัดสินใจถ่ายโอนมาดำเนินงานในรูปแบบของเครดิตยูเนี่ยนตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2543 เป็นต้นมา หลังจากที่คณะกรรมการของกลุ่มฯได้เข้ารับการฝึกอบรมเช่นเดียวกับกลุ่มฯบ้านสารภี การดำเนินงานของกลุ่มเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป สมาชิกมีการขายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงอัตราร้อยละ 1.38 ต่อเดือน (ตั้งแต่ ธ.ค.2543) การเพิ่มขึ้นของเงินทุนเรือนหุ้นเพียงอัตราร้อยละ 4.07 ต่อเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกกลุ่มเริ่มปล่อยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน สามารถให้สมาชิกกู้ได้จำนวน 42 คน วงเงิน 72,800 บาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2544) เงินทุนเรือนหุ้นที่เหลือฝากไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

            เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนบ้านป่าสักน้อย การดำเนินงานของคณะกรรมการยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าควรเนื่องจากมีกรรมการบางคนเท่านั้นที่ทำงานหนัก และบางคนยังไม่เสียสละเวลาทำงานให้กับกลุ่ม ดังจะเห็นได้จากการจัดทำระเบียบข้อบังคับของกลุ่มที่เป็นแบบง่ายๆ การประชุมแต่ละครั้งไม่ค่อยพร้อมเพรียงกัน การจัดทำบัญชีและเอกสารทางการเงินมีระบบพอสมควรเพราะต้องทำตามแบบฟอร์มของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด ความพร้อมในด้านต่างๆของกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนบ้านป่าสักน้อยยังมีน้อยกลุ่มฯบ้านสารภี แต่ถึงอย่างไรก็ตามกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนบ้านป่าสักน้อยก็ยังมีความพร้อมที่จะจดทะเบียนเป็นกลุ่มสมทบได้ แต่ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนากลุ่มอีกสักระยะหนึ่งก่อน

2. ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนประสบความสำเร็จ

            1) ผู้นำชุมชน การดำเนินงานของกลุ่มเครดิจตยูเนี่ยนในชุมชน หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้นำชุมชน กลุ่มจะสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น เช่น กรณีของกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนบ้านครัวแขร่ แต่ถ้าหากการดำเนินงานของกลุ่มไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชนแต่มีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง กลุ่มก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกันซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า อย่างไรก็ตามจะต้องมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย

            2) สมาชิก สมาชิกของกลุ่มฯเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการของเครดิตยูเนี่ยนอย่างแท้จริง และจะต้องยึดคุณธรรม 5 ประการ จึงจะทำให้การดำเนินงานของกลุ่มประสบความสำเร็จ แต่ถ้าหากสมาชิกไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการของเครดิตยูเนี่ยนและไม่ยึดคุณธรรม 5 ประการแล้ว ยากที่กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนจะประสบความสำเร็จ

            3) คณะกรรมการ คณะกรรมการจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการของเครดิตยูเนี่ยน และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างแท้จริง โดยจะต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกวิธี คณะกรรมการจะต้องมีคุณธรรม เสียสละเวลาให้กับกลุ่มฯพอสมควรคณะกรรมการของกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนมีวาระการดำรงตำแหน่งแน่นอน ฉะนั้นจึงมีการสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอกเวลาจึงทำให้กลุ่มฯสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืนเพราะไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากคณะกรรมการไม่รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเองและไม่มีคุณธรรมจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มฯล้มในที่สุด

            4) ระบบบัญชีที่เป็นสากล ระบบบัญชีของกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนยึดตามหลักบัญชีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นจุดเด่นของกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน เป็นระบบที่สามารถตรวจเช็คกันได้ในตัวของมันเอง เป็นระบบที่สมารถตรวจสอบได้ และมีหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบ เช่น ชุมนุมเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด สาขาแต่ละภาคและหน่วยตรวจสอบบัญชีและสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกมากกว่ากลุ่มออมทรัพย์ประเภทอื่นๆ

            5) ระบบสวัสดิการคุ้มครองสมาชิก กลุ่มออมทรัพย์ประเภทอื่นๆหรือแม้แต่สหกรณืออมทรัพย์ของหน่วยงานราชการต่างๆก็ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองสมาชิกจึงถือว่าเป็นจุดเด่นและปัจจัยหลักที่ทำให้กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนประสบความสำเร็จ และสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน สวัสดิการเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สมาชิกและคณะกรรมการกลุ่มฯมุ่งมั่นที่จะพัฒนากลุ่มของตนเองให้สามารถจดทะเบียนเป็นกลุ่มสมทบได้เพื่อจะได้รับการคุ้มครอง สวัสดิการ เมื่อสามารถจดทะเบียนเป็นกลุ่มสมทบได้แล้วเงินทุนที่จะดำเนินการภายในกลุ่มมีไม่เพียงพอก็สามารถขอรับสวัสดิการกองทุน (สก.2) หรือหากสมาชิกผู้กู้เงินจากกลุ่มเสียชีวิตลงก็ยังได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการเงินกู้ (สก.1) ซึ่งเป็นหลักประกันความมั่นคงของสมาชิกได้เป็นอย่างดี

6) การให้การศึกษาอย่าต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนากลุ่มฯให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน การให้การศึกษาเหล่านี้อาจจะจัดโดยชุมชนเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด ที่เปิดฝึกอบรมให้คณะกรรมการกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนที่สนใจทุกปี หรือกลุ่มเองอาจจะเชิญวิทยากรมาอบรมให้สมาชิกภาในกลุ่มฯ หรือจัดฝึกอบรมกันภายในกลุ่มฯโดยคณะกรรมการของกลุ่มฯ ซึ่งกลุ่มออมทรัพย์ประเภทอื่นๆไม่มีการให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องแบบนี้

7) ระบบเครือข่าย กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนมีการสร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนด้วยกัน หรือระหว่างกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หรือระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กลุ่มที่มีความเข้มแข็งกว่ายินดีช่วยเหลือกลุ่มที่อ่อนแอกว่า การเชื่อมโยงดังกล่าวอาจจะผ่านชุมชนเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด หรือสาขาแต่ภาคหรือไม่ผ่านชุมนุมฯก็ได้ เครือข่ายเหล่านี้อาจจะเป็นรูปเงินทุนให้กู้ยืม การถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งในกลุ่มออมทรัพย์ประเภทอื่นๆไม่มีการทำในลักษณะนี้ นอกจากการสร้างเครือข่ายภายในกลุ่มของเครดิตยูเนี่ยนแล้วกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนยังสามารถที่จะใช้บริการสินเชื่อของธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) โดยที่กลุ่มฯดังกล่าวจะต้องนำเงินสะสมหุ้นของกลุ่มฯไปเปิดบัญชีฝากไว้กับธนาคารเหล่านั้น และสามารถขอกู้เงินได้มากกว่า 2-5 เท่าของเงินฝาก โดยใช้เงินฝากนั้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไว้กับธนาคาร

Downloads