สถานภาพความรู้ของเกษตรกรกับการแก้ปัญหาโรคไหม้คอรวงในข้าวหอมมะลิ

Authors

  • อารี วิบูลย์พงศ์
  • ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์
  • ประทานทิพย์ กระมล

Keywords:

โรคไหม้, ดรคไหม้คอรวง, โรคใบไม้, ข้าวหอมมะลิ, ข้าว, ความรู้ของเกษตรกร

Abstract

สรุป

การเกิดการระบาดของโรคไหม้คอรวงกับข้าวหอมมะลิ สามารถสร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตข้าวภายในประเทศกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ประสบความเสี่ยงจากโรคไหม้คอรวงความสูญเสียนับว่ารุนแรงเป็นอย่างยิ่ง การเกิดโรคไหม้ที่ระดับร้อยละ 50 ของจำนวนรวงข้าว จะทำให้สูญเสียรายได้ไร่ละ 442 บาท ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดโรคไหม้ที่ระดับร้อยละ 50 ของจำนวนรวงข้าวเกษตรกรใน จ.เชียงใหม่ที่มีรายได้สุทธิเหนือต้นทุนผันแปรเฉลี่ย 1,763 บาท/ไร่ รายได้ดังกล่าวจะลดลงเหลือ 1,320 บาท/ไร่ และเกษตรกรในพิษณุโลกรายได้สุทธิเหนือต้นทุนผันแปรจะลดลงจาก 317 บาท/ไร่ เป็นติดลบ 125 บาท/ไร่ ความสูญเสียต่อเกษตรกรรายบุคคลจึงรุนแรงมากสามารถทำให้เกษตรกรหลายเป็นผู้มีหนี้สินได้ในทันที ดังนั้นการป้องกันมิให้เกิดการระบาดของโรคจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

            ในปัจจุบันเกษตรกรมีความรู้ในเรื่องโรคไหม้จำกัดมาก แม้ว่าเกษตรกรจะมีประสบการณ์ในการปลูกข้าวหอมมะลิโดยเฉลี่ยกว่า 12 ปี ก็ตาม (ประสบการณ์การปลูกข้าวโดยไม่เจาะจงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ย่อยาวนานกว่านี้) ประมาณร้อยละ 80 ของตัวอย่างเกษตรกรเข้าใจว่าตนเองรู้จักโรคไหม้แต่สามารถระบุสาเหตุและลักษณะได้ถูกต้องเพียงร้อยละ 43 และเมื่อตรวจสอบโดยละเอียดยิ่งขึ้นโดยให้เกษตรกรดูภาพถ่าย พบว่า เกษตรกรร้อยละ 8 เท่านั้นที่สามารถบอกได้ถูกต้องชัดเจน และร้อยละ 6 บอกได้ไม่ชัดเจน แสดงว่าเกษตรกรกว่าร้อยละ 80 ที่ตอบไม่ได้และตอบไม่ถูกต้อง การที่เกษตรกรตอบผิดนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาการของโรคที่ใบใกล้เคียงกับโรคอื่นๆ และมีอาการสุดท้ายที่คล้ายกันคือ ใบแห้ง และต้นข้าวตาย (โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคขีดสีน้ำตาล เป็นต้น) เมื่อทดสอบต่อไปโดยเปรียบเทียบคำตอบของเกษตรกรกับข้อมูลจากการเก็บตัวอย่างโรค พบว่าเกษตรกรร้อยละ 30 ตอบได้ถูกต้องว่ามีโรคไหม้ในแปลงนาของตนในระดับใด

            เมื่อเกษตรกรพบว่าเกิดโรคไหม้ในนาของตนนั้น มีเพียงร้อยละ 17.5 ของเกษตรกร (ที่มีโรคไหม้) กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนร้อยละ 82.5 ไม่มีการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด และในจำนวนที่มีการแก้ไขปัญหานี้ เกือบไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมเลย และส่วนใหญ่ไม่มีการแก้ไขในทันที (ภายใน 5 วัน) ดังนั้นการแก้ไขปัญหาโรคไหม้จึงไม่เป็นผล

            เกษตรกรไม่นิยมปรึกษาใครนอกจากสมาชิกในครัวเรือนมีเพียงร้อยละ 10 ของเกษตรกรเท่านั้นที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่เกษตรและผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช การที่เกษตรกรไม่มีพฤติกรรมในการปรึกษาผู้ที่มีความรู้และไม่กระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหา เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ และพิษณุโลก ซึ่งมีโรคไหม้ระบาดค่อนข้างมาก และมีโอกาสที่จะระบาดเมื่อความชื้นและอุณหภูมิเหมาะสมกับการระบาดความเสียหานจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการป้องกัน

            การให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องโรคไหม้ก่อนฤดูเพาะปลูก และการเตือนภัยเป็นระยะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำทุกปี ทั้งนี้การให้ความรู้แก่เกษตรกรสามารถทำได้หลายช่องทาง โดยพิจารณาจากที่เกษตรกรให้ความสำคัญแก่แหล่งข้อมูล คือ การให้ความรู้ผ่านสื่อมวลชน (โทรทัศน์) ซึ่งจะได้ผลค่อนข้างดี สำหรับเกษตรกรใน จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก และโดยผ่านสหกรณ์ และธ.ก.ส.ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว นอกจากนี้ควรอาศัยประโยชน์จากสมาชิกในครอบครัวที่มีการศึกษาค่อนข้างดีในการเป็นสื่อนำความรู้ไปสู่เกษตรกร

            แม้ว่าเกษตรกรตัวอย่างจะเน้นเฉพาะพันธุ์ข้าวหอมมะลิ แต่เกษตรกรเกือบทั้งหมดมีประสบการณ์ในการปลูกข้าวพันธุ์อื่นร่วมด้วย และโรคไหม้สามารถเกิดกับข้าวหลากหลายพันธุ์ ดังนั้นผลการศึกษานี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้กับข้าวพันธุ์อื่นๆด้วยเช่นกัน

Downloads