ความสามารถเชิงแข่งขันทางการค้าของกุ้งแช่แข็งไทยในตลาดโลก

Authors

  • กุศล ทองงาม
  • ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์
  • อารีย์ วิบูลย์พงศ์
  • พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ
  • อัครพงค์ อั้นทอง

Abstract

สรุป

ผลการวิเคราะห์ค่าดัชนี DRC ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบเทียบในการทฟาร์มกุ้งแบบพัฒนาควรผลิตและส่งกุ้งเป็นสินค้าออก และจากข้อมูลการค้าเบื้องต้น และผลการวิเคราะห์ความสามรถในการแข่งขันทางการค้าด้วยดัชนี RCA พบว่า ตลาดส่งออกกุ้งที่ไทยยังคงครองความเป็นผู้นำโดยที่ทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าไม่ลดลงรวมทั้งยังมีความได้เปรียบเทียบโดยรวมในการผลิตกุ้งเพื่อการส่งออก คือตลาดสหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป รวมไปถึงตลาดในแถบเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ปริมาณการนำเข้ากุ้งจากไทยมีแนวโน้มลดลงในระยะหลัง ทำไทยต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับประเทศอื่นไป ในบางตลาดที่แม้ไทยจะยังคงครองความเป็นผู้นำ แต่ด้วยปริมาณการนำเข้าที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้น่าเป็นห่วงถึงสถานการณ์ในอนาคต สำหรับในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าไทยจะยังคงครองความเป็นผู้นำในการส่งออกและมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในการค้ากุ้งแช่แข็งรวม แต่เมื่อดูลึกในรายละเอียดของผลิตภัณฑ์กุ้งแต่ละประเภท ก็พบว่าไทยได้สูญเสียความได้เปรียบในผลิตภัณฑ์กุ้งบางชนิดไป และบางชนิดความได้เปรียบมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับในตลาดญี่ปุ่น ที่พบว่าไทยไม่มีความได้เปรียบเทียบในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นมีการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนสูง ดังนั้นเพื่อการกลับไปครองตลาดเช่นที่ผ่านมาหรืออย่างน้อยเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในตลาดต่างๆ ในปัจจุบันไว้ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการส่งออกเองจะต้องหามาตรการในการขยาย/รักษาตลาด โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน หนทางหนึ่งคือผู้ประกอบการส่งออกกุ้งของไทยควรเพิ่มมาตรการและกวดขันด้านคุณภาพและสุขอนามัยผลิตภัณฑ์กุ้งให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดใจผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่ต้องการสินค้าคุณภาพให้บริโภคสินค้าจากไทยมากขึ้น ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม มาตรฐานยังสู้ไทยไม่ได้ ส่วนประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกา มาตรฐานยังไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ควรขยายการผลิตในผลิตภัณฑ์กุ้งพร้อมรับประทานหรือผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นเนื่องจากหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีความต้องการมากขึ้น ในด้านคุณภาพและสุขอนามัยกุ้งอาจต้องรวมไปถึงการผลิต ณ ระดับฟาร์ม ในการเน้นถึงการใช้สาเคมีและยาป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจตกค้างในกุ้ง รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการจับกุ้งทีมีขนาดใหญ่ขึ้นตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์การแข่งขันทางการค้าในรายงานฉบับนี้ ยังขาดความอุดมสมบรูณ์บางส่วนอยู่ เช่น ไม่สามารถวิเคราะห์หาดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ปรากฏ (RCA) ของผลิตภัณฑ์กุ้งประเภทอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่นเหมือนกับการวิเคราะห์ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในกุ้งแปรรูปพร้อมปรุงประเภทต่างๆ ที่ไทยมีสัดส่วนแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลส่วนการวิเคราะห์ต้นทุนการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ (DRC) ซึ่งได้ใช้ข้อมูลจากการสำรวจของ NACA และ ADB มาวิเคราะห์นั้น ยังไม่ได้รวมต้นทุนทางสังคมอันเกิดจากผลกระทบของการเลี้ยงกุ้งต่อสาขาการผลิตอื่นรวมทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าผู้สนใจหรือหน่วยงานอื่นมีข้อมูลที่สมบรูณ์ ก็ควรมีการศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกเพิ่มเติมในประเด็นเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ต่อวงการค้ากุ้งกุลาดำต่อไป

Downloads