การจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายของภาคเหนือ

Authors

  • พรทิพย์ เธียรธีรวิทย์

Abstract

สรุป

การจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายมีจุดเด่นคือเป็นการจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่นของภาคเหนือที่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีการถ่ายทอดสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานานตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่เดิมระบบเหมืองฝายเป็นการนำน้ำเข้านาในฤดูฝนเพื่อใช้ทำนาปีเท่านั้น ตัวฝายเป็นไม้ไผ่ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและระบบการส่งน้ำก็เป็นเทคโนโลยีแบบง่ายๆ คือ เป็นคลองดินที่ชาวบ้านร่วมกันขุดขึ้น ทำให้ต้นทุนในการจัดการน้ำค่อนข้างต่ำ ผู้ทำนาทุกคนมีสิทธิใช้น้ำอย่างเต็มที่ในฤดูฝนโดยยึดหลักว่าผู้ที่อยู่หัวน้ำจะได้รับน้ำก่อนผู้อยู่ท้ายน้ำ แก่ฝายหรือแก่เหมืองเป็นผู้ทำหน้าที่จัดสรรน้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำโดยพิจารณาจากขนาดของพื้นที่ทำการเพาะปลูก กล่าวคือ พื้นที่มากก็จะได้รับน้ำจากต๊างน้ำที่มีความกว้างมากกว่าชาวนาที่ทำนาพื้นที่น้อย ส่วนการใช้น้ำในฤดูแล้งแก่ฝายจะจัดสรรน้ำให้ผู้ที่ทำการปลูกพืชโดยการแบ่งปันน้ำแก่กันซึ่งจะเป็นการแบ่งน้ำระหว่างฝายลูกเดียวกันหรือระหว่างฝายก็ได้ หรือการใช้ประโยชน์ในพื้นที่หัวน้ำร่วมกันเฉพาะผู้ที่ทำการปลูกพืชในฤดูแล้ง

            ผู้ใช้น้ำทุกคนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหมืองฝายไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้บริหารเหมืองฝาย การขุดลอกเหมืองฝาย การเลี้ยงผีฝายและกิจกรรมอื่นๆตามกฎระเบียบของเหมืองฝายที่เรียกว่าสัญญาเหมืองฝายซึ่งเป็นกฎกติกาที่สมาชิกผู้ใช้น้ำร่วมกันกำหนดขึ้น แต่ต่อมาระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวเกษตรกรมีการปลูกการพืชแบบเข้มข้นและยังทำการเพาะปลูกตลอดปีด้วย ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งจึงเกิดขึ้นเกษตรกรต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้รอบเวร การแบ่งปันน้ำระหว่างฝายหรือลำเหมืองต่างๆ ที่อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกัน การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่อยู่หัวน้ำร่วมกันการขุดบ่อน้ำซึมในพื้นที่ของตนเอง และการขุดบ่อบาดาล เป็นต้น

            การจัดการน้ำในลุ่มน้ำของเหมืองฝายในภาคเหนือเป็นการจัดการเหมืองฝายหนึ่งระบบ โดยมีแก่ฝายจำนวน 1 คนเป็นผู้บริหารสูงสุดและรับผิดชอบฝายๆนั้น และมีผู้ช่วยแก่ฝายและกรรมการอื่นๆร่วมบริหารงานด้วย ซึ่งฝายแต่ละระบบ (แต่ละแห่ง) อาจมีเหมือง 1 ลูกหรือหลายลูกแต่จะมีแก่ฝายรับผิดชอบทั้งระบบแต่เพียงผู้เดียว สำหรับฝายที่มีเหมืองหลายลูกแก่ฝายจะแบ่งงานให้แก่เหมืองแต่ละแห่งทำหน้าที่จัดสรรน้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำและรับผิดชอบเหมืองนั้นๆ แต่แก่ฝายยังคงดูแลและรับผิดชอบฝายทั้งระบบ เช่น ลุ่มแม่น้ำปิงมีฝายตั้งกระจายอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่จนถึงกิ่งอำเภอเวียงหนองล่องจังหวัดลำพูนจำนวน 21 ฝาย จะมีแก่ฝายหรือหัวหน้าเหมืองฝายจำนวน 21 คน รับผิดชอบการจัดการน้ำเฉพาะฝายของตนเองเท่านั้น สรุปได้ว่า การจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายหรือในลุ่มน้ำเป็นการจัดการในลักษณะแนวนอน ไม่ใช่การบริหารจัดการในแนวดิ่ง เพราะไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือผู้รับผิดชอบคนใดคนหนึ่งดูแลฝายทุกแห่งภายในลุ่มน้ำเดียวกัน ซึ่งการจัดการน้ำในแนวดิ่งจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำภายในลุ่มน้ำเดียวกันดีกว่าการจัดการในแนวนอน เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้น้ำและพื้นที่รับน้ำของฝายแต่ละแห่งในลุ่มน้ำเดียวกันเพื่อจัดสรรน้ำและแบ่งน้ำให้ผู้ใช้น้ำตามความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลา และยังสามารถแก้ปัญหาการจัดการการใช้น้ำในฤดูแล้งได้ดีอีกด้วย

            จุดอ่อนอีกข้อหนึ่งของระบบเหมืองฝาย คือ กติกาสังคมของเหมืองฝายไม่ศักดิ์สิทธิ์กับสมาชิกนอกกลุ่มสังคมเดียวกัน เช่น ผู้ใช้น้ำที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สวนพฤกษ์ศาสตร์แม่ริม หรือธุรกิจรีสอร์ท บ้านจัดสรรบางแห่ง ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ใช้น้ำนอกกุล่มเหล่านี้เป็นผู้อยู่เหนือน้ำจึงสามารถเก็บกักน้ำและใช้น้ำอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสัญญาเหมืองฝายของชุมชน ถึงแม้ว่าจะใช้น้ำในลุ่มน้ำหรือลำห้วยเดียวกันกับเหมืองฝายของชุมชนก็ตาม

            ปัญหาการขาดแคลนน้ำในประเทศมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นกลยุทธ์การจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายของชุมชนในภาคเหนือจะมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นถ้ามีการจัดตั้งองค์กรหรือคณะกรรมการควบคุมดูแลการจัดการน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งกรรมการเหล่านี้ควรเป็นตัวแทนของผู้ใช้น้ำในระบบเหมืองฝายที่ใช้น้ำในลุ่มน้ำเดียวกันนั่นเอง นอกจากนี้เหมืองฝายแต่ละแห่งควรมีการจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ เพื่อที่จะทำให้ทราบจำนวนผู้ใช้น้ำและพื้นที่รับน้ำทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องและแน่นอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

Downloads