การพัฒนากลุ่มสะสมทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในเขตภาคเหนือตอนบน
Abstract
สรุป
จากการศึกษากลุ่มสะสมทุนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จะเห็นได้ว่าลักษณะของการจัดตั้งกลุ่มสะสมทุนสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทด้วยกัน แม้ว่าจะมีกลุ่มสะสมทุนประเภทต่างๆ จำนวนมากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มสะสมทุนทั้งหมดจะประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน โดยข้อเท็จจริงกลุ่มสะสมทุนส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาในการดำเนินงานด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งระดับของปัญหาในแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันไป สามารถแยกสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน ในระยะเริ่มแรกที่มีการจัดตั้งกลุ่มใหม่ๆปัญหาที่กลุ่มเหล่านี้ประสบได้แก่ ปัญหาเงินทุนดำเนินงานมีน้อย ปัญหาสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักการดำเนินงานอย่างแท้จริง และปัญหาด้านบุคลากรที่มารับผิดชอบด้านบัญชีขาดความรู้ ระยะที่สองเป็นระยะที่กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนจดทะเบียนเป็นกลุ่มสมทบ ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดการ ระยะที่สามเป็ฯระยะที่กลุ่มสมทบจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ปัญหาส่วนใหญ่ได้แก่ ปัญหาความแตกแยกของสมาชิก และปัญหามีเงินทุนมากเกินความต้องการ
2. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกลุ่มสะสมทุนที่มีสัดส่วนมากที่สุด อย่างไรก็ตามก็มีปัญหามากตามไปด้วย กล่าวคือ ปัญหาการไม่เข้าใจหลักการดำเนินงานของสมาชิก ปัญหาของประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ดำเนินงานไม่เห็นความสำคัญของกลุ่มออมทรัพย์ ปัญหาปริมาณเงินทุนมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการและขาดการสนับสนุนเงินทุนจากแหล่งอื่น รวมไปถึงปัญหาที่รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์ ปัญหาการขาดการเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบโดยตรง และปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์ เช่น สมาชิกมีการถอนเงินสะสมบ่อยๆ ผู้ที่รับผิดชอบด้านบัญชีขาดความรู้ความเข้าใจ การไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันและความขัดแย้งภายในกลุ่มจนก่อให้เกิดปัยหาความแตกแยก และปัญหาการขาดการประชาสัมพันธ์
3. ธนาคารหมู่บ้าน เป็นปัญหาที่ประสบส่วนใหญ่ ได้แก่ ปัญหาการขาดความสามัคคีระหว่างสมาชิกด้วยกัน ปัญหาที่เกี่ยวกับคณะกรรมการบริหารมักไปกระจุกตัวอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ปัญหาด้านการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ ปัญหามีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์อื่นๆ ขึ้นมาซ้ำซ้อนในพื้นที่เดียวกัน และปัญหาไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล เพราะไม่มีหน่วยงานกลางใดเข้ามารับผิดชอบ
4. กลุ่มออมทรัพย์ในรูปแบบอื่นๆ ปัญหาส่วนใหญ่ได้แก่ ปัญหาการจัดการเงินทุนหมุดเวียนไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาการแข่งขันกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาซ้ำซ้อน และปัญหาการขาดหน่วยงานกลางที่จะเป็นตัวคอยเชื่อมโยงประสานระหว่างกลุ่มออมทรัพย์ด้วยกัน
อย่างไรก็ตามปัญหาของกลุ่มสะสมทุนที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วจะเห็นว่ากลุ่มสะสมทุนส่วนใหญ่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินทุน ปัญหามีการจัดตั้งกลุ่มสะสมทุนขึ้นมาซ้ำซ้อนในพื้นที่เดียวกัน ปัญหาเกี่ยวกับตัวสมาชิกของกลุ่มขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการดำเนินงานที่ถูกต้องของกลุ่มสะสมทุน ปัญหาเกี่ยวกับคณะกรรมการบริหารไม่เข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง และปัญหาการขาดความสามัคคีและขาดความเป็นปึกแผ่นของสมาชิกและคณะกรรมการ ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้จะทำให้กลุ่มสะสมทุนไม่สามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน
จากการศึกษาถึงรูปแบบการจัดตั้งกลุ่มสะสมทุนแต่ละประเภท ต่างก็มีปัญหาการดำเนินงานด้วยกันทั้งสิ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงโอกาสที่กลุ่มสะสมทุนจะสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น กลุ่มสะสมทุนที่มีรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดก็คือกลุ่มสะสมทุนที่อยู่ในรูปแบบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพราะมีข้อดีมากกว่ากลุ่มสะสมทุนในรูปแบบอื่นๆ กล่าวคือ เป็นกลุ่มสะสมทุนที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฏหมายซึ่งสามารถทำนิติกรรมใดๆก็ได้ มีการตรวจสอบความถูกต้องจากหน่วยงานภายนอก มีระบบการจัดทำบัญชีที่เป็นสากล คณะกรรมการบริหารกลุ่มมีวาระการดำรงตำแหน่งไม่ยึดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต่างๆเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการประกันความเสี่ยงการกู้ยืมเงินของสมาชิกกลุ่มหากสมาชิกเสียชีวิตระหว่างการกู้ยืมเงิน ทางชุมชนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะชดใช้ให้ในวงเงินไม่เกินสามแสนบาทและยังมีการจ่ายเงินสมทบค่าหุ้นแก่สมาชิกผู้นั้นอีกด้วย จากจ้อดีดังกล่าวทำให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้เปรียบกลุ่มสะสมทุนในรูปแบบอื่นๆ แต่ทั้งนี้การที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะสมารถพัฒนาให้เป็นไปอย่างยั่งยืนสมาชิกจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการดำเนินงานและหลักคุณธรรมของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนอย่างแท้จริง ในส่วนของคณะกรรมการจะต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดีและมีความเสียสละที่จะทำงานให้กับส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการทดลองให้กลุ่มสะสมทุนรูปแบบอื่นจำนวน 6 กลุ่ม มาทดลองใช้รูปแบบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยมีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนริมออน จำกัด สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านศรีงามพัฒนา จำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านป่าป้อง จำกัด เป็นแบบอย่าง ปรากฏว่าผลการทดลองสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มแรกไม่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์บ้านม้า จังหวัดลำพูน และกลุ่มออมทรัพย์บ้านห้วยชมพู จังหวัดเชียงราย กลุ่มที่สองประสบความสำเร็จปานกลาง มีระดับการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะสามารถจดทะเบียนได้ในภายหลัง ซึ่งได้แก่ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนบ้านทุ่งยาวและกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านแม่ตาด จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีระดับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและจะสามารถจดทะเบียนเป็น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้ในต้นปี 2544 ซึ่งได้แก่ ธนาคารหมู่บ้านบ้านขรัวแคร่ จังหวัดลำพูน และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตสตรีแม่บ้านตำยลดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
Downloads
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่