การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อค่าพรีเมี่ยมและค่าชดเชยความเสี่ยงในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า

Authors

  • พิเชษฐ์ พรหมผุย

Abstract

บทคัดย่อ

ค่าพรีเมี่ยมในการซื้อขายซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญแก่ผู้ที่เข้ามาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราการแลกเปลี่ยน เช่น ผู้ที่ส่งออก-นำเข้า หรือผู้ที่ทำธุรกิจต่างประเทศ การเพิ่มสูงขึ้นของค่าพรีเมี่ยมจะเป็นอุปสรรคต่อการป้องกันความเสี่ยง หรือถ้าค่าพรีเมี่ยมลดต่ำลงจะทำให้ต้นทุนนี้ลดลงด้วย การได้ทราบถึงโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงของค่าพรีเมี่ยมจึงเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศดังกล่าว ดังนั้นการศึกษานี้จึงได้ทำการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าพรีเมี่ยม โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาการคาดคะเนอัตราการแลกเปลี่ยนโดยใช้เทคนิค co-integration และ error correction โดยทำการคาดคะเนอัตราการแลกเปลี่ยนในช่วงเดือนมกราคม 2536 – ธันวาคม 2538 ผลการศึกษาพบว่า อัตราการแลกเปลี่ยนล่วงหน้า สัดส่วนของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯและเงินสำรองระหว่างประเทศเทียบกับมูลค่าการนำเข้าของไทย ในระยะยาวมีบทบาทต่อการแลกเปลี่ยนแปลงของอัตราการแลกเปลี่ยนในอนาคต ในขณะที่ระยะสั้นพบว่า อัตราการแลกเปลี่ยนในช่วงเวลาก่อนหน้า อัตราการแลกเปลี่ยนล่วงหน้า สัดส่วนของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเทียบกับ GDP และเงินสำรองระหว่างประเทศเทียบกับมูลค่าการนำเข้าของไทย มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราการแลกเปลี่ยนในอนาคต และนอกจากนี้พบว่าการคาดคะเนอัตราการแลกเปลี่ยนทันทีในอนาคตของการศึกษานี้เป็นไปตามสมมติฐานของ rational expectation

            การศึกษาในส่วนที่สอง เป็นการทดสอบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ expected risk premium ซึ่งได้ทดสอบในช่วงเดือนมกราคม 2536 – ธันวาคม 2538 โดยได้ทดสอบตัวแปรที่ได้จากการศึกษาของ Fama (1984), Domowitz และ Hakio (1985) การทดสอบพบว่าความแปรปรวนของปริมาณเงินทั้งในและต่างประเทศมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของ risk premium ในขณะที่ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของ risk premium ได้

            ในส่วนที่สามเป็นการทดสอบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อค่าพรีเมี่ยมในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าของไทย ซึ่งใช้ข้อมูลค่าพรีเมี่ยมชนิดหนึ่งเดือน มาทำการทดสอบในช่วงเดือนมกราคม 2536 – ธันวาคม 2538 โดยการทดสอบพบว่าค่าพรีเมี่ยมในอดีต สัดส่วนของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัดเทียบกับ GDP มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าพรีเมี่ยมในปัจจุบัน

Downloads