ปัจจัยที่มีผลต่อการไร้ที่ดินทำกินและการมีงานทำของชาวชนบทในจังหวัดลำพูนและจังหวัดพิจิตร
Abstract
บทคัดย่อ
ปัจจุบันโครงสร้างทางเศรษฐกิจในชนบทของประเทศไทย ยังคงเป็นเกษตรกรรมและกิจกรรมการเกษตรส่วนใหญ่ คือ การทำนา ทำไร่ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการทำนา ทำไร่ ก็คือ ที่ดินทำกินและแรงงาน ในอดีตที่ผ่านมาการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในชนบทเกิดจากการขยายพื้นที่ดินทำกินเพื่อการเพาะปลูกเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันการขยายพื้นที่ดินทำกินสำหรับการเพาะปลูกไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้ เนื่องจากมีผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารของประเทศ ส่วนแรงงานหรือประชากรในชนบทกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลาประกอบกับประเพรีการแบ่งปันมรดกที่ดินทำกินให้บุตรทุกคนๆ ละเท่าๆกัน จึงทำให้อัตราส่วนของที่ดินทำกินต่อแรงงานหรือขนาดที่ดินทำกินเฉลี่ยต่อครัวเรือนลดน้อยถอยลงอยู่ตลอดเวลา จนมีผลทำให้ชาวชนบทเกิดการไร้ที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และเกิดการว่างงานเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง
จากประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงทำให้มีการศึกษาวิจัยในหัวข้อเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อการไร้ที่ดินทำกินและการมีงานทำของชาวชนบทในจังหวัดลำพูนและจังหวัดพิจิตร” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักต้องการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการไร้ที่ดินทำกินและการไร้ที่ดินทำกินมีผลต่อการทำงานประกอบอาชีพของแรงงานในครัวเรือนอย่างไรบ้าง ซึ่งมีรายละเอียด 3 ประการ ดังนี้
1. เป็นการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลทั้งที่ทำให้ชาวชนบทไร้ที่ดินทำกิน และที่ทำให้ชาวชนบทมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองระหว่างครัวเรือนไร้ที่ดินทำกินและครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
2. ศึกษาเปรียบเทียบสถานภาพทางด้านประชากรและเศรษฐกิจของครัวเรือนในชนบทระหว่างครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
3. ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการอพยพเคลื่อนย้ายออกไปทำงานประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านของแรงงานในครัวเรือนในชนบท ระหว่างครัวเรือนที่ไร้ที่ดินทำกินและครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
การศึกษาวิเคราะห์กระทำโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยการสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือนตัวอย่างของการวิจัยซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 444 ตัวอย่าง จำแนกเป็นครัวเรือนตัวอย่างที่ได้จากจังหวัดลำพูน จำนวน 212 ตัวอย่าง ประกอบด้วยครัวเรือนที่มีที่ดินทำกิน 136 ตัวอย่าง และครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง 76 ตัวอย่าง และเป็นครัวเรือนตัวอย่างที่ได้จากจังหวัดพิจิตร จำนวน 232 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ครัวเรือนไร้ที่ดินทำกิน 134 ตัวอย่าง และครัวเรือนที่มี่ที่ดินทำกินเป็นของตนเอง 98 ตัวอย่าง
การศึกษาวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดการไร้ที่ดินทำกิน และการอพยพเคลื่อนย้ายออกไป ทำงานประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านของแรงงานในครัวเรือน ได้ใช้เทคนิคการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression) ตามแบบจำลองโลจิต (Logit Model) โดยวิธีการประมาณภาวะความน่าจะเป็นสูงสุด (Maximum Likehhood Estimates) ส่วนการวิเคราะห์เปรียบเทียบสถานภาพทางด้านประชากรและเศรษฐกิจระหว่างครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ได้ใช้เทคนิคการทดสอบหาค่า (T-test)
1.ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดการไร้ที่ดินทำกินในจังหวัดลำพูน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติมี 4 ประการ คือ ขนาดที่ดินทำกินที่มีหรือเคยมี คุณสมบัติของที่ดินทำกินที่เป็นที่ดอน อายุของหัวหน้าครัวเรือนและระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน กล่าวคือ ครัวเรือนที่มีหรือเคยมีที่ดินทำกินขนาดเล็กมีโอกาสเกิดการไร้ที่ดินทำกินสูง ครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินเป็นที่ดอนมีโอกาสเกิดการไร้ที่ดินทำกินสูง หัวหน้าครัวเรือนที่มีอายุน้อยและมีระดับการศึกษาต่ำมีโอกาสไร้ที่ดินทำกินสูง
ส่วนปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดการไร้ที่ดินทำกินในจังหวัดพิจิตร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติมีเพียง 2 ประการ คือ ขนาดที่ดินทำกินที่มีหรือเคยมีและราคาที่ดินทำกินต่อไร่ที่ขายหรือจำนอง กล่าวคือ ครัวเรือนที่มีหรือเคยมีที่ดินทำกินขนาดเล็ก มีโอกาสเกิดการไร้ที่ดินสูงและระดับราคาที่ดินทำกินต่อไร่ที่สูงขึ้น มีผลทำให้เกิดดารไร้ที่ดินทำกินสูง
2. ปัจจัยทางด้านประชากรของครัวเรือน ซึ่งได้แก่ขนาดของครัวเรือนและอัตราส่วนร้อยละของแรงงานในครัวเรือน ระหว่างครัวเรือนไร้ที่ดินทำกินและครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ทั้งในจังหวัดลำพูนและในจังหวัดพิจิตร
ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจของครัวเรือน ซึ่งได้แก่ขนาดที่ดินที่ใช้ทำกิน มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด รายได้ทั้งหมด รายได้เฉลี่ยต่อหัวและรายจ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนไร้ที่ดินทำกิน มีค่าน้อยกว่าครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งในจังหวัดลำพูนและจังหวัดพิจิตร ส่วนปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจอีกประการหนึ่งคือ จำนวนหนี้สินของครัวเรือนนั้น ปรากฏว่าในจังหวัดลำพูนไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดระหว่างครัวเรือนไร้ที่ดินทำกินกับครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
3. ปัจจัยที่มีผลทำให้แรงงานในครัวเรือนอพยพเคลื่อนย้ายออกไปทำงานประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านในจังหวัดลำพูน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติมี 4 ประการ คือ รายได้ครัวเรือนจากการรับจ้าง อัตราส่วนร้อยละของแรงงานในครัวเรือน รายได้เฉลี่ยต่อหัว และความแตกต่างระหว่างรายได้ทั้งหมดของครัวเรือนกับรายได้จากการรับจ้าง (รายได้อื่นนอกเหนือจากการรับจ้าง) กล่าวคือ ครัวเรือนที่มีรายได้จากการรับจ้างสูงจะจูงใจให้แรงงานในครัวเรือนอพยพเคลื่อนย้ายออกไปทำงานประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านสูง ส่วนครัวเรือนที่มีอัตราส่วนร้อยละของแรงงานในครัวเรือนสูงและครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำจะผลักดันให้แรงงานในครัวเรือนอพยพเคลื่อนย้ายออกไปทำงานประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านสูง ตลอดจนครัวเรือนที่มีรายได้อื่นนอกจากรายได้จากการรับจ้างสูงจะจูงใจให้แรงงานในครัวเรือนอพยพเคลื่อนย้ายออกไปทำงานประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านสูงด้วย
ปัจจัยที่มีผลทำให้แรงงานในครัวเรือนอพยพเคลื่อนย้ายออกไปทำงานประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านในจังหวัดพิจิตรมีเพียง 2 ประการ คือ อัตราส่วนร้อยละของแรงงานในครัวเรือนและรายได้ครัวเรือนจากการรับจ้าง กล่าวคือ อัตราส่วนร้อยละของแรงงานในครัวเรือนและรายได้ครัวเรือนจากการรับจ้างมีค่าสูงจะผลักดันและจูงใจให้แรงงานในครัวเรือนอพยพเคลื่อนย้ายออกไปทำงานประกอบอาชีพนอกหมู่บ้านสูง ตามลำดับ
Published
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่