การใช้แมทริกซ์วิเคราะห์นโยบายหาผลตอบแทนต่อสังคมในระบบการปลูกพืชบนที่สูง : กรณีโครงการหลวงวัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่

Authors

  • เบญพรรณ เอกะสิงห์
  • กิติยา สุริยา

Abstract

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ที่จะประเมินผลตอบแทนทั้งในระดับผู้ผลิตและระดับสังคม ในระบบการปลูกพืชบนที่สูง บริเวณโครงการหลวงวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วีการวิเคราะห์ข้อมูล ได้ใช้แมทริกซ์วิเคราะห์นโยบาย (Policy Analysis Matrix : PAM) ผลการศึกษาพบว่า พืชที่แนะนำให้เกษตรปลูกโดยโครงการหลวงวัดจันทร์ 4 ชนิดที่ศึกษา ฟักทองญี่ปุ่น ผักกาดหอมห่อ พริกหวานเขียว และ แกสดิโอลัส มีกำไรในระดับผู้ผลิต (private profitability) ประมาณ 4,300-11,200 บาทต่อไร่ และกำไรในระดับสังคม (social profitability) ประมาณ 11,000-20,000 บาทต่อไร่ ส่วนการปลูกข้าวนาดำ ข้าวไร่ และเผือก ไม่มีกำไรในระดับผู้ผลิต แต่มีกำไรสุทธิในระดับสังคม สำหรับขิง ณ ระดับราคาที่เกษตรกรได้รับ ไม่มีกำไรทั้งในระดับผู้ผลิตหรือในระดับสังคม ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างกำไรสุทธิในระดับผู้ผลิตและระดับสังคม คือ ค่าเงินบาทที่มีค่าเกินจริงในปี 2540 เมื่อปรับอัตรานี้ตามค่าที่แท้จริงพบว่า พืชและระบบพืชทุกพืชยกเว้นขิง มีกำไรในระดับสังคมและควรได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไป

            ความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในระบบการปลูกพืชโดยผ่านการคำนวรอัตราส่วนต้นทุนทรัพยากรภายในประเทศ สำหรับพืชที่ส่งเสริมโดยโครงการหลวงอยู่ในระดับที่ดีมาก ส่วนของเผือก ข้าวนาดำ และข้าวไร่ อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนของขิงนั้นไม่มีประสิทธิภาพและสังคมเสียประโยชน์จากการผลิตพืชชนิดนี้ นอกจากนั้นพบว่า ในการปลูกพืชและระบบพืชที่ศึกษาทั้งหมดมีเงินอุดหนุนสุทธิให้เกษตรเป็นลบ ค่าเงินที่สูงเกินจริงสามารถอธิบายเงินอุดหนุนเป็นลบนี้ได้ร้อยละ 50-100 ขึ้นอยู่กับชนิดพืช การมีความเสี่ยงด้านราคาและคุณภาพตลาดแข่งขันไม่สมบรูณ์ ต้นทุนการตลาดและการขนส่งที่สูง เป็นสาเหตุอื่นนอกเหนือจากด้านค่าเงินบาทที่ก่อให้เกิดระดับเงินอุดหนุนที่เป็นลบสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพืชเหล่านั้น การศึกษานี้ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาพืชบนที่สูงไว้หลายประการ 

Downloads