การวิเคราะห์การจำหน่ายผลผลิตข้าวหอมมะลิของเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่
Abstract
สรุป
จากผลการศึกษาที่ได้ชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิส่วนใหญ่ยังคงขายผลผลิตที่ได้หมดทันทีหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะเกษตรกรในอำเภอพร้าวซึ่งอยู่ไกลตัวเมืองเชียงใหม่มากกว่าอำเภอสันกำแพง โดยส่วนใหญ่จะขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อถึงไร่นา และกว่าร้อยละ 60 ไม่มีการสืบราคาที่โรงสีในขณะที่ตัดสินใจขายผลผลิต และแม้ว่ารัฐจะมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อช่วยชะลอการจำหน่ายในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวก็ตาม แต่พบว่าเกษตรกรในทั้ง 2 พื้นที่ยังให้ความสนใจน้อยด้วยเหตุผลต่างๆกัน
ผลการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของดัชนีราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ณ ระดับฟาร์ม เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของราคาตามฤดูกาล เปรียบเทียบกับการตัดสินใจขายผลผลิตของเกษตรกร พบว่า นอกจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะขายผลผลิตในช่วงการเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีราคาต่ำมากจนเกือบต่ำสุดแล้ว (ต่ำสุดเดือนมกราคม) เกษตรกรที่เก็บผลผลิตไว้รอราคาส่วนใหญ่ยังขายผลผลิตที่เก็บไว้ไปในช่วงที่ดัชนีราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (23 รายการจาก 40 รายขายผลผลิตในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ซึ่งดัชนีราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย) และพบว่ามีเพียง 3 รายเท่านั้นที่ขายผลผลิตไปในช่วงที่ให้ผลตอบแทนจากการเก็บผลผลิตไว้รอราคาที่สูงสุด
สำหรับการวิเคราะห์ความแตกต่างจากการจำหน่ายผลผลิตข้าวหอมมะลิของเกษตรกร ปีการผลิต 2539/40 ที่มีต่อระดับรายได้โดยวิธีงบประมาณบางส่วน พบว่าการนำผลผลิตไปขายเองยังแหล่งรับซื้อมีทั้งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและน้อยลงกว่าการขาย ณ แหล่งผลิต ทั้งนี้เนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างราคา ณ แหล่งรับซื้อเป็นสำคัญ ซึ่งพบว่าเกษตรกรในอำเภอพร้าวที่ขาดทุนจากการนำผลผลิตไปจำหน่ายถึงแหล่งรับซื้อนั้น จะนำผลผลิตไปขายที่โรงสีทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เกษตรกรในอำเภอสันกำแพงซึ่งมรกำไรจากการนำผลผลิตไปจำหน่ายถึงแหล่งรับซื้อนั้น จะขายผลผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรซึ่งให้ราคาดีกว่า แต่ก็ไม่ได้เพิ่มมากนัก จึงอาจกล่าวได้ว่าเพื่อความสะดวก เกษตรกรอาจเลือกที่จะขายผลผลิตที่ไร่นาดีกว่าการนำไปขาย ณ แหล่งซื้อ โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีผลผลิตไม่มาก เนื่องจากถ้านำไปขายยังแหล่งรับซื้อแล้วอาจไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องเสียไป ซึ่งไม่ได้นำมาคิดเป็นต้นทุนในครั้งนี้ด้วย ส่วนเกษตรกรที่มีปริมาณผลผลิตมากๆ โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีรถยนต์เป็นของตนเองในพื้นที่อำเภอสันกำแพงก็อาจเลือกที่จะนำผลผลิตไปขายเองจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งรับซื้ออยู่ไม่ไกลจากไร่นามากนัก แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเลือกขายที่แหล่งผลิต หรือนำไปขายเองที่แหล่งรับซื้อเกษตรกรควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับราคาและวิธีการรับซื้อจากแหล่งต่างๆอยู่เสมอก่อนตัดสินใจขาย เพื่อจะได้เลือกขายผลผลิตได้ถูกต้อง และไม่ต้องโดนกดราคาจากผู้รับซื้อ
ส่วนการเก็บผลผลิตไว้รอราคาในปีการผลิต 2539/40 สามรถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในทั้ง 2 พื้นที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้โดยเฉลี่ยของครัวเรือนเกษตรกร คือประมาณ 8,000 – 10,000 บาท/ครัวเรือน โดยมีระยะเวลาเก็บรักษาเฉลี่ยประมาณ 5 เดือน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรจะได้กำไรเช่นนี้เสมอไป ในบางปีถ้าราคาเปลี่ยนแปลงไม่มากนักเกษตรกรก็อาจไม่ได้กำไรหรือได้น้อย โดยเฉพาะถ้าเกษตรกรเก็บผลผลิตไว้เองและมีหนี้สินค้างชำระ ซึ่งจากสถิติการเคลื่อนไหวของราคาในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ที่พบว่าในบางปีราคาเคลื่อนไหวค่อนข้างน้อย และจากผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาโดยเฉลี่ยจากช่วงต่ำที่สุดจนถึงช่วงสูงที่สุด ที่มีการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยต่อเดือน ประมาณร้อยละ 1.88 เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยปกติของธกส ประมาณร้อยละ 1.25 ต่อปี หรือร้อยละ 1.04 ต่อเดือน แล้วพบว่าต่างกันไม่มาก ซึ่งผลต่างที่ไม่มากนี้อาจจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา แต่ถ้าเทียบกับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี หรือประมาณร้อยละ 0.25 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยในการจำนำข้าวเปลือกกับ ธกส. แล้วก็ต่างกันมาก ดังนั้นเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อชำระหนี้ หรือลงทุนต่อ อาจเลือกที่จะเก็บสินค้าไว้รอราคาในบางปี โดยเฉพาะปีที่ราคาในช่วงการเก็บเกี่ยวตกต่ำมาก โดยใช้วิธีจำนำข้าวไว้กับธกส. เพื่อนำเงินไปใช้ก่อนและลดความเสี่ยงเรื่องราคา และในกรณีที่เกษตรกรเก็บผลผลิตไว้รอราคาแล้วก็ต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบว่าควรจะขายผลผลิตที่เก็บไว้นั้นเมื่อไรจึงจะได้ราคาที่ดีที่สุดหรือได้รับรายได้มากที่สุด โดยอาจจะอาศัยราคาซื้อขายในช่วงเวลาต่างๆในอดีตที่ผ่านมาช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งจากข้อมูลราคาฟาร์มโดยเฉลี่ยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ในการศึกษานี้ ชี้ให้เห็นว่าการขายผลผลิตในเดือนกรกฎาคม เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนสูงที่สุด เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในระยะหลัง ราคาข้าวหอมมะลิมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ และเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ถ้าเกษตรกรหรือโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่การเกษตรที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาและติดตามอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนตัดสินใจขายผลผลิตเพื่อให้ได้รายได้ที่สูงขึ้นต่อไป
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่