การพยากรณ์แรวโน้มวิกฤตการณ์การเงินการธนาคาร: วิถีการที่ได้มาซึ่งคำตอบอันมีคุณค่าจริงหรือไม่

Authors

  • เสถียร ศรีบุญเรือง

Abstract

บทสรุป (conclusion)

            จะเห็นได้ว่าในอดีต สถาบันทางการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ธนาคารโลก (International Bank for Reconstruction and Development : IBRD) หรือแม้แต่ธนาคารพัฒนา ซึ่งมีบทบาทเฉพาะพื้นที่หรือระดับทวีป เช่น ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ABD) เป็นต้น ต่างก็ได้ให้ความสนใจต่อข้อมูลของตัวแปรที่สามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัด หรือให้สัญญาณเตือนที่ทันต่อเหตุการณ์การเกิดวิกฤตการณ์ในระบบการเงินการธนาคารในประเทศต่างๆ ดังนั้น การศึกษาโครงสร้างทางด้านการเงินการธนาคารของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังจะมีปัญหาวิกฤติเหล่านั้นอย่างระมัดระวังเพื่อหาจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็พยายามหาทางแก้ไขข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนเหล่านั้น โดยการอาศัยการเก็บรวมรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณของระบบธนาคารที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาความถดถอย โดยเฉพาะในประเด็นความถดถอยของความมั่นคง จากนั้นก็ทำการตรวจสอบค่าตัวแปรเชิงเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ ที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้เพื่อประเมินนัยสำคัญในพฤติกรรมของตัวแปรเชิงเศรษฐกิจมหภาคเหล่านั้นก่อนจะนำมาชี้วัดความเป็นไปได้หรือแนวโน้มการเกิดวิกฤติของระบบการเงินการธนาคารในประเทศเหล่านั้น

            อย่างไรก็ตาม เป็นที่เชื่อกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้สถาบันการเงินระหว่างประเทศเหล่านี้คงจะต้องใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินการเพื่อหาตัวชี้วัดภาวะวิกฤติในรูปตัวแปรเชิงเศรษฐกิจมหภาค ขณะเดียวกันธนาคารกลางของแต่ละประเทศก็จะต้องเข้ามามีบทบาทในการหาตัวชี้วัดเชิงเศรษฐกิจมหภาคนี้มากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งอย่างน้อยความพยายามในการดำเนินการดังกล่าวทั้งของสถาบันการเงินระหว่างประเทศและธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จะทำให้ได้มาซึ่งตัวชี้วัดที่ดีสำหรับการพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นโดยเฉพาะจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศกำลังพัฒนา

            ในกรณีของประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียนั้น ก็ควรดำเนินการศึกษาต่อไปในทางลึกว่า ในทางปฏิบัติควรมีสัญญาณเตือนอื่นๆ อีกหรือไม่ที่ต้องคำนึงถึง เช่น สัญญาณเตือนที่ได้จากข้อมูลเชิงเศรษฐกิจระดับจุลภาค เป็นต้น ในหลายประเทศก็ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลในระดับจุลภาค (dis-aggregate data) กันอย่างใกล้ชิด โดยได้ให้ความสนใจต่อข้อมูลทางบัญชีและมาตรฐานข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์มากขึ้น แม้ว่าในทางปฏิบัติจริง บางครั้งอาจไม่สามารถหาตัวชี้วัดหรือกลุ่มตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือมาเป็นเครื่องมือพยากรณ์วิกฤตการณ์ทางการเงินการธนาคารได้ ในขณะเดียวกัน แนวโน้มความล้มเหลวของระบบธนาคารในบางประเทศหรือในบางพื้นที่นั้นยังไม่สามารถที่จะคาดคะเนได้อย่างถูกต้อง ดั้งนั้นความล้มเหลวของระบบการเงินการธนาคารก็จะยังคงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ ประการแรก เนื่องจากทักษะในการแก้ไขปัญหาวิกฤติและประสบการณ์ของภาครัฐในแต่ละประเทศย่อมมีระดับแตกต่างกันออกไป ประการที่สองก็คือ เป็นเรื่องยากลำบากในการจะคาดคะเนวิกฤตการณ์การเงินการธนาคารของแต่ละประเทศให้ถูกต้องได้ ดังนั้นจังอาจกล่าวได้ว่า ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจึงเป็นเหตุการณ์ที่เป็นไปด้วยความไม่แน่นอนทั้งสิ้น

            อย่างไรก็ตาม นับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้ภาครัฐต้องหามาตรการเชิงนโยบายเพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดเป็นปัญหาภาคการเงินการธนาคาร โดยความพยายามที่จะทำการคาดคะเนวิกฤตการณ์การเงินการธนาคารในปัจจุบันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นและยังต้องการให้เกิดมีพัฒนาการทางด้านนี้อีกมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามที่มากขึ้นในการที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยให้สังคมมีต้นทุนค่าเสียโอกาสน้อยที่สุดเท่าที่เป็นได้ ซึ่งประเด็นปัญหานี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลในทุกประเทศ โดยเฉพาะสถาบันการเงินระหว่างประเทศและธนาคารกลางในแต่ละประเทศ จะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญโดยพยายามที่จะผลักดันให้มีพัฒนาการทางด้านนี้มากขึ้นในอนาคต

Downloads