การไม่ยอมรับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของประชาชนในพื้นที่ดำเนินการของจังหวัดเชียงใหม่

Authors

  • ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์

Abstract

สรุป

            การศึกษาการไม่ยอมรับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตครั้งนี้ เพื่อต้องการทราบถึงโอกาสที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่ดำเนินงานโดยกรมการพัฒนาชุมชนว่าจะสามารถขยายการดำเนินงานไปได้อีกมากน้อยเพียงใด และต้องการที่จะศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประชาชนในเขตพื้นที่ดำเนินของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต รวมไปถึงการศึกษาถึงปัญหาการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง จากผลการศึกษาพอสรุปได้ดังนี้

            โอกาสที่จะขยายการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในพื้นที่ ถ้าพิจารณาจากหมู่บ้านที่มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จะเห็นได้ว่าในหมู่บ้านที่มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตประมาณร้อยละ 48.02 ดังนั้นโอกาสที่จะขยายการดำเนินงานให้ทุกครัวเรือนเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมีถึงร้อยละ 51.98 ของครัวเรือนทั้งหมดหรือถ้าพิจารณาถึงโอกาสที่จะขยายการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตให้ครบทุกหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ (ยกเว้นในเขตเทศบาล) จะเห็นได้ว่าจังหวัดเชียงใหม่มีสัดส่วนของหมู่บ้านที่มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เพียงร้อยละ23.85 ของหมู่บ้านทั้งหมดในพื้นที่ (ไม่รวมในเขตเทศบาล) ซึ่งถือได้ว่ามีการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์ฯ เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะขยายการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตให้ครบทุกหมู่บ้านยังมีอีกมากถึงร้อยละ 76.15 ของหมู่บ้านทั้งหมดในพื้นที่ (ไม่รวมในเขตเทศบาล) ซึ่งถือได้ว่าโอกาสที่จะขยายการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์ยังมีค่อนข้างสูงมาก

            ในด้านปัจจัยที่มีผลต่อการไม่ยอมรับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตของประชาชนในเขตพื้นที่ดำเนินการ พอสรุปได้ดังนี้

1. สภาพการถือครองที่ดินที่เป็นของตนเอง หากครัวเรือนใดไม่มีที่ดินเป็นของตนเองสมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวมีโอกาสที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

2. การเป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อการเกษตรโดยที่ครัวเรือนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อการเกษตร สมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวมีโอกาสที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

3. ความเพียงพอในการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์การเกษตร หากครัวเรือนใดเป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อการเกษตรแล้วกู้ยืมเงินและปริมาณเงินกู้ไม่เพียงพอกับการลงทุนสมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวมีโอกาสที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

4. ความเพียงพอในการกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. หากครัวเรือนใดเป็นสมาชิก ธ.ก.ส. แล้วไม่กู้ยืมเงินหรือกู้ยืมเงินและปริมาณเงินกู้เพียงพอกับการลงทุน สมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวมีโอกาสที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

5. การมีบัญชีเงินฝากธนาคารของครัวเรือนตัวอย่าง หากครัวเรือนใดมีบัญชีเงินฝากธนาคารในธนาคารใดธนาคารหนึ่งสมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวมีโอกาสที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

6. การเข้าร่วมประชุมเตรียมการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หากครัวเรือนใดไม่เข้าร่วมประชุมเตรียมการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต แล้วสมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวมีโอกาสที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

7. การทราบหลักการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หากครัวเรือนใดไม่ทราบหลักการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต แล้วสมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวมีโอกาสที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

8. ถ้าทราบข้อดีของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตแล้วจะเข้าร่วมกลุ่มออมทรัพย์ฯ หากครัวเรือนใดที่ทราบถึงข้อดีของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตแล้วยังจะตัดสินใจไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวมีโอกาสที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

9. การไม่ไว้วางใจประธานหรือคณะกรรมการบริหารของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หากครัวเรือนใดไม่ไว้วางใจประธานหรือคณะกรรมการบริหารของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต แล้วสมาชิกในครัวเรือนดังกล่าวมีโอกาสที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

            สำหรับปัญหาที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในเขตพื้นที่ดำเนินการประสบอยู่นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายประการ พอที่จะสรุปได้ดังนี้

1. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตส่วนใหญ่ประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนภายในกลุ่มมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการกู้ยืมของสมาชิกกลุ่มฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20

2. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 18.67

3. ปัญหาสมาชิกไม่เข้าใจหลักการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 14.67

4. ปัญหารัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12.00

5. ปัญหาเกิดการขัดแย้งกันภายในกลุ่มออมทรัพย์ฯและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.00      

6. ปัญหาขาดการเอาใจใส่ ดูแล ติดตามให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 6.67 แล

7. ปัญหากรรมการบริหารงานกลุ่มออมทรัพย์ฯมีความรู้น้อย และขาดความรู้ในเรื่องการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง คิดเป็นสัดส่วนส่วนประมาณ ร้อยละ 5.33

Downloads