การศึกษาวิเคราะห์ประชาคมอาเซียนและผลกระทบทางวัฒนธรรม
Keywords:
ประชาคมอาเซียน , ผลกระทบ , วัฒนธรรมAbstract
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นศึกษาวัฒนธรรมทางศาสนาและความเชื่อของคนไทยจากการเปิดประเทศไทยเป็นประชาคมอาเซียนและผลกระทบด้านวัฒนธรรมทางศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัย ดังนี้ (1) เพื่อศึกษาวัฒนธรรมของคนไทยก่อนการเปิดประเทศไทยเป็นประชาคมอาเซียน (2) เพื่อศึกษาผลกระทบทางวัฒนธรรมไทยในการเปิดประเทศไทยเป็นประชาคมอาเซียน (3) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบและแนวทางแก้ไขผลกระทบต่อวัฒนธรรมไทย ผลการศึกษาพบว่า การเปิดประเทศไทยเป็นประชาคมอาเซียนทำให้ประเทศไทยมีการเปิดกว้างทางด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต วัฒนธรรมที่แตกต่างหรือมีความคล้ายคลึงกันถูกหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง วัฒนธรรมทางภาษามีความเกี่ยวเนื่องกับศาสนา เป็นปราการด่านแรกสำหรับการติดต่อสื่อสาร เพื่อเชื่อมโยงติดต่อกัน ภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนถูกผลักดันให้มีความสำคัญต่อเยาวชนและคนไทยโดยการแทรกซึมในการเรียนการสอนรายวิชาของสถานศึกษาของไทย รวมถึงบริษัทเอกชนใหญ่หลายแห่งที่ต้องการบุคลากรที่มีความสามารถทางภาษาเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันประเทศไทยเป็นประเทศเสรีภาพทางศาสนา ประชาชนสามารถเลือกปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละคนได้โดยไม่มีกฎหมายบังคับ ทำให้คนไทยมีโอกาสเรียนรู้ถึงหลักคำสอนในแต่ละศาสนา แนวคิด การปฏิบัติตนที่แตกต่างของกลุ่มประเทศสมาชิก คนไทย ลาว พม่า เวียดนาม มีวัฒนธรรมหลักคือศาสนาพุทธ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน มาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไน มีวัฒนธรรมหลักคือศาสนาอิสลาม และฟิลลิปนส์มีศาสนาคริสต์เป็นวัฒนธรรมหลัก ผลกระทบที่เป็นไปได้ในอนาคตจากการศึกษาเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวเรียกร้องกฎหมายการปกป้องศาสนาและปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาในอดีต คือ การเปลี่ยนศาสนาของคนไทยอาจมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยการเปลี่ยนจากศาสนาที่ตนนับถืออยู่เดิมไปสู่ศาสนาใหม่ โดยการแผ่ขยายและครอบงำทางด้านความเชื่อ การแพร่กระจายเผ่าพันธุ์ และการศึกษา แนวโน้มการดำเนินชีวิตของคนไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นเป็นลำดับตามแรงกดดันทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ในขณะที่ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาความแตกต่างทางศาสนาอยู่จนถึงปัจจุบัน และยังมีทีท่าจะไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างเด็ดขาด