การบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
Keywords:
การบริหารจัดการ, พื้นที่มรดกโลก, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงAbstract
การวิจัยแบบผสมผสานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก (2) แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก (3) ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญทำให้แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประสบผลสำเร็จ และ (4) ตัวแบบการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา รวม 1,087 คน เก็บรวบรวมข้อมูลสนามระหว่างวันที่ 1 กันยายน ถึง 31 ธันวาคม 2558 โดยได้รับแบบสอบถามที่สมบูรณ์กลับคืนมารวม 976 ชุด คิดเป็นร้อยละ 89.79 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าการถดถอยพหุคูณ และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพนั้นเป็นการสัมภาษณ์แนวลึกเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 9 คนโดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้าง ค่าความเที่ยงตรงของแบบสอบถามได้ค่า IOC ที่ระดับ 0.94 และค่าความเชื่อถือได้ของแบบสอบถาม ได้ค่าครอนบาคที่ระดับ 0.96 ผลการศึกษาพบว่า (1) ปัญหาที่สำคัญ คือ ผู้บริหารเทศบาลบางส่วนไม่ได้ใช้ความคิด ความรู้ และความสามารถของตนเองอย่างมากเพียงพอในการจัดระเบียบร้านค้าในพื้นที่มรดกโลก (2) แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ คือ ผู้บริหารเทศบาลควรใช้ความคิด ความรู้ และความสามารถของตนเองเพิ่มมากขึ้นโดยดำเนินการจัดระเบียบร้านค้าด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง (3) ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญ คือ การที่ผู้บริหารของเทศบาลมีภาวะความเป็นผู้นำสูง และ (4) ตัวแบบการบริหารจัดการตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควรประกอบด้วย 8 ด้าน โดยเน้นด้านการสร้างเครือข่าย ด้านความพอประมาณ ด้านความมีเหตุผล ด้านการรวมกลุ่ม ด้านความสมดุลและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการเสริมสร้างคนให้มีความรู้และคุณธรรม ด้านภูมิคุ้มกัน และด้านการพึ่งตนเอง ตามลำดับ