การเมืองของการต่อสู้นโยบายกัญชาเสรีในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2563

ผู้แต่ง

  • Nuchanart Jiraviphas Ramkhamheang University

คำสำคัญ:

การเมืองของนโยบาย, การต่อสู้, นโยบายกัญชาเสรี

บทคัดย่อ

       การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาลักษณะของการต่อสู้ผลักดันเพื่อนโยบายกัญชาเสรีในประเทศไทย และตัวแสดงและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองในการต่อสู้เกี่ยวกับนโยบายกัญชาเสรีในประเทศไทย รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองของตัวแสดงภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับนโยบายกัญชาเสรีในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2563 วิธีการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยกระบวนการวิจัยเชิงเอกสารจากหนังสือ บทความ งานวิจัย เอกสารทางหน่วยงานราชการ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และกระบวนการสัมภาษณ์เจาะลึก เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ โดยนำเอาแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างโอกาสทางการเมือง แนวคิดทฤษฎีการระดมทรัพยากร แนวคิดทฤษฎีการตลาดทางการเมือง แนวคิดทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ และแนวคิดทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์เป็นกรอบในการวิจัย

       ผลการวิจัยพบว่า จากการที่กัญชาถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษมาอย่างยาวนานส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีทัศนคติและมุมมองที่มีต่อกัญชาในแง่ลบมากกว่าแง่บวก จนกระทั่งกระแสความสนใจกัญชากลับมาอีกครั้งเมื่อมีผลวิจัยทั้งในและต่างประเทศรองรับสารสำคัญที่มีต่อกัญชา จึงเป็นที่มาของการต่อสู้ผลักดันเพื่อกัญชาเสรีซึ่งประกอบไปด้วยทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน โดยลักษณะของการต่อสู้ผลักดันเพื่อนโยบายกัญชาเสรีในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2560 มีความแตกต่างจากอเมริกาเหนือ ยุโรป และภูมิภาคอื่นด้วยการใช้ดนตรีและแฟชั่นที่สื่อถึงกัญชาเป็นหลัก ต่อมามีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายโดยมีสาระสำคัญเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งการศึกษาวิจัยยังไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อการสันทนาการ ทั้งนี้ นโยบายกัญชาเสรีได้ถูกนำไปใช้เป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 ของพรรคการเมือง จนกระทั่งประสบความสำเร็จทางการเมือง ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง สรุป การต่อสู้ผลักดันเพื่อนโยบายกัญชาเสรีในประเทศไทยประกอบไปด้วยฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้าน และก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคการเมือง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-04-12

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research article)