นโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 กรณีศึกษาสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
คำสำคัญ:
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, นโยบายการท่องเที่ยว, การกระตุ้นเศรษฐกิจบทคัดย่อ
สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและแพร่ระบาดในประเทศไทยนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2020 สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างรวมถึงการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาปัญหานโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 และแนวทางแก้ไขนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 กรณีศึกษาสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 17 คน โดยเลือกแบบเจาะจงคือเป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 11 คน ตัวแทนจากภาคประชาชน จากชุมชน จำนวน 4 คน และตัวแทนจากภาคเอกชน จำนวน 2 คน ซึ่งทั้งหมดต้องเป็นผู้เกี่ยวข้องนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในพื้นที่สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลตามประเด็นสำคัญในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า
ปัญหานโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า ปัญหาสำคัญคือ มีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างงาน สร้างรายได้เสริมสภาพคล่อง กระตุ้นการบริโภคภาคประชาชนผ่านการเดินทางท่องเที่ยว และการสร้างรายได้
จากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง สร้างสมดุลเชิงโครงสร้างใหม่ เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน
แนวทางแก้ไขนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การมุ่งพัฒนาศักยภาพสมาชิกของชุมชนท้องถิ่นให้มีความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการเข้ามามีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กลไกสำคัญคือ 1) การมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนชุมชน 2) การพัฒนาคนและบุคลากร 3) การเพิ่มมูลค่าทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น 4) การตลาดที่เหมาะสมกับชุมชน 5) การสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย 6) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน 7) การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน และ 8) การประเมินผลด้วยตัวชี้วัดความพึงพอใจของชุมชน และนักท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรทางวัฒนธรรมให้กับท้องถิ่น การพัฒนาเพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดี รวมถึงการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงชุมชนต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน