วัฒนธรรมองค์กรและทัศนคติในการทำงาน ที่มีความสัมพันธ์ต่อความผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน กรณีศึกษา : บริษัทแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร

ผู้แต่ง

  • อุษา เทวารัตติกาล มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
  • กาญชนก ผิวงาม มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
  • วิเชียร ปรีดาวงศากร มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
  • สุบรรณ พัดเพ็ง มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

คำสำคัญ:

วัฒนธรรมองค์กร, ทัศนคติในการทำงาน, ความผูกพันต่อองค์กร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานกรณีศึกษา : บริษัทแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร และ 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยของวัฒนธรรมองค์กรและปัจจัยของทัศนคติในการทำงานกับความผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน กรณีศึกษา : บริษัทแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ประชากร คือ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 192 คน โดยสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 คน โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 แบบสอบถามเกี่ยวกับลักษณะส่วนบุคคลของพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร และส่วนที่ 2 แบบสอบถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร ทัศนคติในการทำงาน และความผูกพันต่อองค์กรโดยมีค่าความเที่ยงตรงตามเนื้อหาด้วยวิธี CVR ของ ลอว์ชี่ ที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 14 ท่าน และค่าความเชื่อมั่นด้วยการตรวจสอบความสอดคล้องภายใน โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาสำหรับ ข้อคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร ดังนี้ วัฒนธรรมองค์กรแบบมุ่งอำนาจเท่ากับ .713 วัฒนธรรมองค์กรแบบมุ่งบทบาทเท่ากับ .868 วัฒนธรรมองค์กรแบบมุ่งงานเท่ากับ .721 และวัฒนธรรมองค์กรแบบมุ่งคนเท่ากับ .828 ข้อคำถามเกี่ยวกับทัศนคติในการทำงาน ดังนี้ องค์ประกอบด้านความคิดเท่ากับ .819 องค์ประกอบด้านความรู้สึกเท่ากับ .831 และองค์กระกอบด้านพฤติกรรมเท่ากับ .921 และข้อคำถามเกี่ยวกับความผูกพันต่อองค์กร ดังนี้ ความผูกพันต่อองค์กรด้านจิตใจเท่ากับ .804 ความผูกพันต่อองค์กรด้านการคงอยู่เท่ากับ .849 และความผูกพันต่อองค์กรด้านบรรทัดฐานเท่ากับ .850 จากนั้นผู้วิจัยจึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSS for Windows (Statistical Package for the Social Sciences for Window)

ผลการวิจัยมีดังนี้ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน 66 คน คิดเป็นร้อยละ 66.00 อายุตั้งแต่ 40 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี จำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 31.00 ระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี จำนวน 70 คน คิดเป็นร้อยละ 70.00 ระยะเวลาการปฏิบัติงานต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 49 คน คิดเป็นร้อยละ 49.00 และรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาท จำนวน 64 คน คิดเป็นร้อยละ 64.00 จากการศึกษา พบว่า คะแนนจากแบบสอบถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรมีระดับสูง คะแนนเฉลี่ยมีค่า 3.98 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .50 คะแนนจากแบบสอบถามเกี่ยวกับทัศนคติในการทำงานมีระดับสูง คะแนนเฉลี่ยมีค่า 4.03 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .42 และคะแนนจากแบบสอบถามเกี่ยวกับความผูกพันต่อองค์กร มีระดับสูง คะแนนเฉลี่ยมีค่า 4.04 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .56 จากการทดสอบสมมติฐานพบว่า จากการทดสอบสมมติฐานพบว่า 1) ปัจจัยส่วนบุคคลของพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ด้านอายุ และรายได้ ของพนักงานที่แตกต่างกันมีความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานที่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลของของพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ด้านเพศ ระดับการศึกษา และระยะเวลาการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน มีความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานที่ไม่แตกต่างกัน 2) ปัจจัยวัฒนธรรมองค์กรโดยรวม มีความสัมพันธ์กับความผูกพันต่อองค์กร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 มีความสัมพันธ์ระดับค่อนข้างสูง และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ .743** และ3) ปัจจัยทัศนคติในการทำงานโดยรวมมีความสัมพันธ์กับความผูกพันต่อองค์กร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 มีความสัมพันธ์ระดับค่อนข้างสูง และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ .796**

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2025-02-27