ร่วมด้วยช่วยกัน สร้างความเชื่อมโยง “ โซ่แห่งคุณค่า จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ” กรณีศึกษา : กลุ่มเพื่อนแพะ (ผู้เลี้ยงแพะ) จังหวัดภูเก็ต
Main Article Content
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับทิศทางการดำเนินงาน ให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้และความเข้มแข็งสู่เศรษฐกิจฐานราก ทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวและสามารถนำไปสู่ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ควบคู่กับกระบวนการกลุ่มย่อยและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแกนนำผู้เลี้ยงแพะจังหวัดภูเก็ต จำนวน 30 คน เริ่มจากการใช้ทฤษฎี SIPOC model ดำเนินการวิเคราะห์ผู้ผลิต ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลลัพธ์ และลูกค้า เพื่อร่วมวิเคราะห์การจัดกระบวนการดำเนินงานตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ใช้เครื่องมือแผนผังต้นไม้ วิเคราะห์เส้นทางการผลิตต้นทุนปัจจัยการผลิต ปัจจัยการพึ่งตนเอง การพึ่งพาปัจจัยภายนอก ใช้แผนภูมิก้างปลา วิเคราะห์กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแปรรูป ระบบข้อมูล โลจิสติกส์ ใช้เครื่องมือตุ๊กตาผู้บริโภค วิเคราะห์ลูกค้า เป้าหมาย ช่องทางการตลาด ใช้เครื่องมือดอกไม้ของชุมชนเพื่อวิเคราะห์ทุนชุมชน ตลอดจนดำเนินการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ผลวิจัย พบว่า กลุ่มผู้เลี้ยงแพะมีภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนิน การพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้น มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มซึ่งปรับปรุงจากแผนยุทธศาสตร์เดิม และมีโซ่แห่งคุณค่าแพะ จังหวัดภูเก็ต ที่ร่วมกันสังเคราะห์จากข้อมูลเครื่องมือและการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ ผลักดันสู่แผนบูรณาการเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต