ศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องธรรมชาติของตัณหาในพุทธปรัชญาเถรวาทและปรัชญาจารวาก

ผู้แต่ง

  • พระเสินจัง คมฺภีรปญฺโญ นิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องธรรมชาติของตัณหาในพุทธปรัชญาเถรวาทและปรัชญาจารวาก มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้ (1) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องธรรมชาติของตัณหาในพุทธปรัชญาเถรวาท (2) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องธรรมชาติของตัณหาในปรัชญาจารวาก (3) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องธรรมชาติของตัณหาในพุทธปรัชญาเถรวาทและปรัชญาจารวาก การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงเอกสาร    

        ผลการวิจัย พบว่า

  1. ตัณหาในพุทธปรัชญาเถรวาท คือ ความทะยานอยาก 3 ประการ คือ 1. กามตัณหา ความอยากได้ความใคร่ในกามคุณ 5  ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าใคร่น่าพอใจ 2. ภวตัณหา ความอยากได้ในภพ เพื่อให้ความสุขที่จะให้คงอยู่ตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง 3. วิภวตัณหา ความไม่อยากมีในความทุกข์ อยากพ้นไปจากความทุกข์ อยากให้ทุกข์ดับสูญไป
  2. ตัณหาในปรัชญาจารวาก คือ ความอยากมีความสุข มี 3 ระดับ คือ 1. ตัณหาในระดับพื้นฐาน เป็นระดับในการดำรงชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ เช่น อยากได้ปัจจัย 4 เพื่อดำรงชีพ เป็นต้น  2. ตัณหาในระดับกลาง เป็นระดับที่สร้างแรงกระตุ้นให้มีการพัฒนาการเสพความสุข ความสะดวกสบาย  3. ตัณหาระดับกิเลส เป็นระดับที่หมกมุ่น ฟุ่มเฟือย เพื่อสนองกิเลสที่ไม่รู้จักพอของตน
  3. เปรียบเทียบแนวคิดของตัณหาในพุทธปรัชญาเถรวาทและปรัชญาจารวาก ดังนี้ พุทธปรัชญามองตัณหาว่า เป็นอกุศลธรรม เป็นรากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวง มนุษย์ประสบความทุกข์เพราะมีตัณหา ดังนั้น พุทธปรัชญาจึงสอนให้ดับตัณหาที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ และเพื่อให้ถึงความสุข 3 ประการ คือ 1. ความสุขในโลกนี้ ได้แก่ ความสุขในปัจจุบันนี้ 2. ความสุขในโลกหน้า ได้แก่ สวรรค์ 3. สุขในพระนิพพาน ได้แก่ การดับกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ ถึงสุขที่ไพบูลย์ ไม่ต้องประสบทุกข์ในวัฏฏสงสารอีกต่อไป  ส่วนปรัชญาจารวาก มองตัณหาว่า ไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์รู้จักการเสพสุข ตัณหาเกิดขึ้นพร้อมการเกิด และดับไปพร้อมกับการตาย มนุษย์ผู้ฉลาดต้องรู้จักการนำตัณหามาใช้ประโยชน์ ดังนี้ 1. กระตุ้นให้มนุษย์ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด 2. กระตุ้นให้เกิดการเสพสุข เช่น การคิดสูตรอาหารอร่อย เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น 3. กระตุ้นให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีและความสะดวกสบาย เช่น ผลิตรถยนต์ ผลิตโทรศัพท์เพื่อใช้สื่อสาร เป็นต้น  ดังนั้น มนุษย์ผู้ฉลาดจึงต้องรู้จักนำตัณหามาสร้างประโยชน์ ความสุข ความสะดวกสบายให้มากที่สุด 4. กระตุ้นให้เกิดการป้องกัน เช่น คิดค้นยารักษาโรค เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการมุ่งเน้นให้เสพสุขให้มากที่สุดและลดความทุกข์ให้เหลือน้อยที่สุดนั่นเอง

References

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

คณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง. (2551). นักธรรม-ธรรมศึกษาชั้นโท. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง.

พระครูปลัดสุวัฒนพุทธคุณ จนฺทาโภ. (2555). การศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาจารวาก. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

14-06-2020