ศึกษารูปแบบการสอนมรณสติในพื้นที่เสี่ยงของพระครูวิสิฐพรหมคุณ (สมชาย โชติวโร) เจ้าอาวาสวัดพรหมนิวาส ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

ผู้แต่ง

  • ประเสริฐ ชมพรมมา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน
  • ประชัน ชะชิกุล มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน
  • ภัทรชัย อุทาพันธ์ คณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน

คำสำคัญ:

พระพุทธศาสนา, พื้นที่เสี่ยง, มรณสติ

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบการสอนมรณสติในพระพุทธศาสนา 2) ศึกษารูปแบบการสอนมรณสติในพื้นที่เสี่ยงของพระครูวิสิฐพรหมคุณ (สมชาย โชติวโร) เจ้าอาวาสวัดพรหมนิวาส ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส 3) วิเคราะห์รูปแบบการสอนมรณสติในพื้นที่เสี่ยงของพระครูวิสิฐพรหมคุณ (สมชาย โชติวโร) เจ้าอาวาสวัดพรหมนิวาส ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) โดยศึกษาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ตำรา เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) นำข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียง จัดหมวดหมู่ วิเคราะห์เนื้อหาตามลำดับ

ผลการวิจัยพบว่า: (1) รูปแบบการสอนมรณสติในพระพุทธศาสนา คือสอนให้เห็นการประกอบกันขึ้นของปัจจัยต่าง ๆ ที่รวมกันของรูปธรรมและนามธรรม รวมถึงองค์ประกอบส่วนย่อยต่าง ๆ ประกอบกันขึ้นจนเป็นตัวเราเรียกว่า ชีวิต และในท้ายที่สุดแล้วชีวิตนี้ก็จะเดินทางไปสู่ มรณะ ภายใต้กฎของธรรมชาติ กฎของไตรลักษณ์ (สามัญลักษณะ) ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ให้ทำใจยอมรับความตายที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในวันข้างหน้า เพื่อไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นและไม่เป็นทุกข์ ผู้ใดยึดเอามรณสติเป็นอารมณ์ จะได้ประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพานเลยทีเดียว เหล่านี้จึงเรียกว่า รูปแบบการสอนมรณสติในพระพุทธศาสนา (2) พระครูวิสิฐพรหมคุณ (สมชาย โชติวโร) ปฏิบัติศาสนกิจพื้นที่เสี่ยง คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่การก่อความไม่สงบ โดยรูปแบบเริ่มจากตัวท่านเองที่ใช้มรณสติด้วยการระลึกถึงความตายเสมอว่า สักวันความตายต้องมาถึงตัวเราไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ท่านจึงเดินทางจากจังหวัดนครราชสีมาอาสาลงมาปฏิบัติศาสนกิจในพื้นที่เสี่ยงตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 (3) รูปแบบการสอนมรณสติเกิดจากประสบการณ์ตรงของท่านที่ถูกลอบวางระเบิดขณะออกบิณฑบาตในเช้าวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2549 ทำให้จีวรเปื้อนเลือด ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่ฝังเข้าไปบริเวณท้ายทอยตรงศูนย์ควบคุมการมองเห็น ส่งผลให้สายตาพร่ามัวมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีรูปแบบการสอนมรณสติสอดแทรกอยู่เสมอในการปฏิบัติศาสนกิจทุกด้าน ที่ชัดเจนที่สุดคือ การบริจาคโลงศพ

References

กรมการศาสนา, คู่มือพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2543.

ณัฏยา วาสิงหน, ความหมายของความตาย : การตีความตามพุทธปรัชญา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.

ทินพันธ์ นาคะตะ, พระพุทธศาสนากับสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สหายบล็อกและการพิมพ์, 2543.

วิไลลักษณ์ สายเสน่ห์, การศึกษาเปรียบเทียบทัศนะเกี่ยวกับการตายและการเกิดใหม่ในพุทธศาสนานิกายเถรวาทกับนิกายวัชรยาน. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2537.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-12-2020