การลงโทษประหารชีวิตในมุมมองทางพุทธจริยศาสตร์และปรัชญาตะวันตก

ผู้แต่ง

  • พระครูโกศลศาสนบัณฑิต (กฤษณะ บูชากุล) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

คำสำคัญ:

การลงโทษประหารชีวิต, พุทธจริยศาสตร์, ปรัชญาตะวันตก

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง การลงโทษประหารชีวิตในมุมมองทางพุทธจริยศาสตร์และปรัชญาตะวันตกนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ (1) เพื่อศึกษาการลงโทษประหารชีวิตในกฎหมายและในปรัชญาตะวันตก (2) เพื่อศึกษาการลงโทษประหารชีวิตในพุทธจริยศาสตร์ และ (3) เพื่อวิเคราะห์การลงโทษประหารชีวิตในมุมมองทางพุทธ

จริยศาสตร์และปรัชญาตะวันตก โดยได้ศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎกภาษาไทยและภาษาบาลี ตำรา เอกสาร งานวิจัย และมีการสัมภาษณ์บุคคลในสาขาอาชีพที่เห็นว่าเกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม นำมาพรรณนา วิเคราะห์ วิจารณ์ ได้ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

ผลการวิจัย พบว่า : (1)การลงโทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษประเภทหนักที่สุดในกฎหมายทั้งกฎหมายไทยและต่างประเทศกล่าวเฉพาะที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญาของไทย ฉบับ พ.ศ.2540 มีระบุถึงความผิดและมาตราไว้ดังนี้คือ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระบุไว้ในมาตรา 107, ความผิดข้อหาปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์หรือพยายามปลงพระชนม์ ระบุไว้ในมาตรา 108 เป็นต้น ส่วนในปรัชญาตะวันตกมีการกล่าวถึงทฤษฎีการลงโทษ 4 แบบด้วยกันคือ 1. ทฤษฎีแก้แค้นทดแทน 2. ทฤษฎีอรรถประโยชน์ 3. ทฤษฎีแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และ 4. ทฤษฎีคุ้มครองสังคม สำหรับวิธีการลงโทษประหารชีวิตที่ทำกันในประเทศต่าง ๆเท่าที่พบหลักฐาน มี 7 วิธีหลักๆ ดังนี้ 1.วิธียิงเป้า 2. วิธีแขวนคอ 3. วิธีฉีดสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย และวิธีอื่น ๆ ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้นำแนวคิดของจอห์น สจ๊วต มิลล์ และอิมมานูเอล ค้านท์มาใช้วิเคราะห์ด้วย (2) การลงโทษประหารชีวิตในพุทธจริยศาสตร์เป็นการกล่าวเปรียบเทียบว่าเป็นการลงโทษที่เทียบเท่าการลงโทษประหารชีวิตคือการลงโทษโดยสั่งให้ลาสิกขา เป็นการขับออกจากกลุ่มหรือให้พ้นสภาพจากการเป็นอยู่ในสภาพเดิม เรียกว่าการลงโทษขั้นปาราชิก คือขับให้พ้นสภาพจากความเป็นพระภิกษุ เพราะพระภิกษุนั้นได้ละเมิดบทบัญญัติที่ทางพุทธปรัชญาถือว่าร้ายแรงมากข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อใน 4 ข้อ เรียก ปาราชิก 4 ข้อ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับพระภิกษุ เมื่อละเมิดแล้วอาจมีโทษตามกฎหมายบ้านเมืองด้วย บางข้ออาจถึงกับต้องโทษประหารตามกฎหมายอาญาจริง ๆ การลงโทษในทางพุทธจริยศาสตร์เรียกว่า นิคหกรรม ตรงข้ามกับคำว่า ปัคคหกรรม แปลว่าการยกย่อง นิคหกรรมมี 6 อย่าง 1. ตัชนียกรรมคือวิธีลงโทษด้วยการตำหนิโทษ 2. นิยสกรรมคือวิธีการลงโทษด้วยการถอดยศ 3. ปัพพาชนียกรรมคือวิธีการลงโทษด้วยการขับไล่ออกจากหมู่คณะ 4. ปฏิสารณียกรรมคือวิธีลงโทษด้วยการให้ระลึกถึงอุปการคุณของผู้อื่น 5. อุกเขปนิยกรรมคือวิธีลงโทษด้วยการห้ามอยู่และฉันร่วมกับภิกษุอื่น ๆ 6. ตัสสาปาปิยสิกากรรมคือวิธีลงโทษด้วยการพิจารณาตามความเหมาะสม การลงโทษประหารชีวิตอาจเทียบเท่ากับอุกเขปนียกรรม คือลงโทษด้วยการห้ามอยู่และฉันร่วมกับภิกษุอื่น ๆ เพราะเมื่อคนถูกประหารชีวิตแล้วหรือให้ภิกษุลาสิกขาไปแล้วก็มาอยู่ร่วมกับหมู่คณะไม่ได้อีกต่อไป ระดับการลงโทษมี 3 ระดับ คือ 1. ระดับโทษสถานหนัก คือลงโทษไล่ขับให้พ้นจากสภาพพระภิกษุซึ่งเทียบเท่าการประหารชีวิต 2. ระดับโทษปานกลาง คือลงโทษให้อยู่ปริวาสกรรมในที่จำเพาะซึ่งเทียบเท่ากับการถูกสั่งให้จำคุก 3. ระดับโทษสถานเบาคือลงโทษโดยให้แสดงอาบัติหรือบอกกล่าวโทษของตนต่อหน้าพระภิกษุหรือต่อหน้าคณะสงฆ์ ซึ่งเทียบเท่ากับการประจานความผิดต่อหน้าสาธารณชน (3) วิเคราะห์การลงโทษประหารชีวิตในมุมมองทางพุทธจริยศาสตร์  อาจมองได้ว่าการลงโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องโหดร้ายทารุณ ไร้เมตตา ในทางพุทธจริยศาสตร์ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการประหารชีวิตจริง ๆ แต่การขับออกจากหมู่หรือขับออกจากสังคมของพระภิกษุก็ถือได้ว่าเทียบเท่ากับการถูกลงโทษประหารชีวิต จุดประสงค์ของการขับออกจากหมู่ก็เพียงปรามให้รู้ว่าคุณทำตัวไม่เหมาะที่จะอยู่ในสังคมของพระภิกษุ คุณควรไปอยู่ในสังคมฆราวาส และสามารถเป็นคนดีของสังคมนั้นได้ ยังทำดีทำประโยชน์ในสังคมฆราวาสได้ อนึ่งแม้ว่าเป็นการต้องโทษทางวินัยสงฆ์ ถ้าเป็นความผิดร้ายแรงที่ระบุในกฎหมายอาญาด้วยก็มีสิทธิ์ได้รับโทษประหารชีวิตจริง ๆได้ด้วย คนทุกคนจึงควรสำนึกรู้ในเรื่องนี้ จากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้มีการลงโทษเมื่อคนๆนั้นกระทำความผิด ทั้งยังเห็นว่าการลงโทษประหารชีวิตมีความจำเป็นในสังคมไทย ยังควรคงไว้ในกฎหมายของประเทศไทย เพื่อจะได้ปกป้องคนดี และปรามไม่ให้คนทำความผิดร้ายแรง การใช้การลงโทษประหารชีวิตต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่ให้มีการลงโทษผิดพลาด ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้ ส่วนการลงโทษประหารชีวิตในมุมมองของปรัชญาตะวันตกนั้น มีการกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีการลงโทษประหารชีวิต กล่าวถึงวิธีการลงโทษประหารชีวิตว่ามี 7 วิธีคือ วิธียิงเป้าเป็นต้น นักปรัชญาตะวันตกเช่นมิลล์ พูดถึงประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ หรือคนจำนวนมาก ถ้าประหารฆาตกรคนหนึ่งแล้วทำให้คนจำนวนมากมีความสุข ก็เป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง ถ้าคนส่วนมากไม่มีความสุข ก็ไม่สมควรทำ สำหรับความเห็นของค้านท์ซึ่งเป็นคนเคร่งศีลธรรม ท่านมีความเห็นว่าถ้าคนๆหนึ่งทำผิดกฎหมายก็สมควรถูกลงโทษตามบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ากฎหมายบัญญัติให้ลงโทษประหารชีวิต ก็ต้องลงโทษตามนั้น ถ้าไม่ประหารฆาตกร ประชาชนที่อยู่ในเมืองนั้นหรือประเทศนั้นจะมีเลือดฆาตกรปนอยู่ด้วย ตามนัยยะนี้ถือว่ามิลล์และค้านท์เห็นด้วยกับการมีและใช้การลงโทษประหารชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย

References

นันทรัศมิ์ เทพดลไชย. (2543). “ตามไปดูที่อื่นเขาประหารชีวิตกันอย่างไร”. วารสารราชทัณฑ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ราชทัณฑ์.

พิชัย นิลทองคำ. (ม.ป.ป.). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1-6 อาญา ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม. กรุงเทพฯ : ATHATAYA Co., LTD.

ประยงค์ แสนบุราณ. (2548). ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.

ปรีชา ช้างขวัญยืน และคณะ. (2551). คุณค่าและการประเมินคุณค่าเกี่ยวกับชีวิตและสังคม : โทษประหารชีวิต. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). (2548). พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด. กรุงเทพฯ : วัดราชโอรสาราม.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2553). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 24. กรุงเทพฯ : บริษัท เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สุรินทร์ สฤษฏ์พงศ์ และคณะ. (2546). กฎหมายพิจารณาความอาญาและพยานหลักฐานสำหรับรัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทฯ : บริษัท ประชุมช่าง จำกัด.

โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์. (2560). ปรัชญาทั่วไป. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

องค์การนิรโทษกรรมสากล. (2561). สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน2561. จาก http://www.amnesty.org/page/deathpenalty-countries-eng.

Rupert Cross. (1981). the English Sentencing System. 3rd ed. London: Butheworths.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

24-06-2021