ปัจจัยการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดหนองคาย

ผู้แต่ง

  • ประเสริฐ แก้วจันทร์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยพิชญบัณฑิต
  • โกศล สอดส่อง หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยพิชญบัณฑิต

คำสำคัญ:

ปัจจัยการกระทำผิดซ้ำ, ผู้ต้องขัง, เรือนจำจังหวัดหนองคาย

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง “ปัจจัยการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดหนองคาย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดหนองคายและเพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาผู้ต้องขังที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในองค์กร กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปในเรือนจำจังหวัดหนองคาย ในช่วงระหว่างปี 2564 จำนวน 392 คน กลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยเลือกใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ตัวแทนผู้ต้องขังชายที่กระทำผิดซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปและถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดหนองคาย ในช่วงระหว่างปี 2564 ใช้วิธีการแบบคำนวณ Taro Yamane ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 195 คน วิธีการศึกษาโดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ประกอบด้วย การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้

          ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุต่ำกว่า 30 ปี รองลงมา คือ อายุระหว่าง 31-40 ปี จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ ประมาณ 10,001-15,000 บาท มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวอยู่ที่ 5-6 คน และส่วนใหญ่กระทำความผิดครั้งที่ 2 ผลการศึกษาปัจจัยการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังด้านครอบครัว ในภาพรวมพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อการกระทำความผิดของบุคคล การที่สมาชิกในครอบครัวมีการทะเลาะวิวาทมีปากเสียงกันเป็นประจำ มีอิทธิพลต่อการกระทำผิดของผู้ต้องขังมากที่สุด ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังมากที่สุด คือ ไม่มีอาชีพที่มั่นคง การมีฐานะยากจน มีรายได้ที่ไม่แน่นอน ส่วนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม พบว่าสภาพแวดล้อมในชุมชนเป็นชุมชนแออัดและมีการก่ออาชญากรรมสูง เป็นปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการกระทำผิดของผู้ต้องขังมากที่สุด และปัจจัยด้านกฎหมายที่มีอิทธิพลต่อการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังมากที่สุด คือ การมีความรู้เรื่องโทษของการกระทำความผิดในคดีต่างๆ และไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่มีความเข็ดหลาบ ส่งผลให้กลับมากระทำผิดซ้ำอีก 

          ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ คือ กรมราชทัณฑ์ควรมีการปรับเปลี่ยนการฝึกอบรมอาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและให้มีความเหมาะสมกับ ความสามารถของผู้ต้องขังแต่ละคน พร้อมทั้งการจัดหาตลาดรองรับสินค้า ให้ผู้ต้องขังสามารถนำไป พัฒนาต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ ควรมีกระบวนการจำแนกและคัดแยกผู้ต้องขังแต่ละประเภทออกจากกัน เพื่อช่วยลดปัญหาการเลียนแบบพฤติกรรมการกระทำผิดระหว่างผู้ต้องขังด้วยกัน ควรมีมาตรการที่เด็ดขาดชัดเจนในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำบ่อยครั้ง เพื่อเป็นการข่มขู่ยับยั้งให้เกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำผิดซ้ำอีก และควรพัฒนาโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบำบัดฟื้นฟู และแก้ไขพฤตินิสัยของผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับผู้ต้องขังแต่ละเภท ไม่ควรเป็นโปรแกรมพื้นฐานเดียวกัน เช่น ผู้ต้องขังที่กระทำความผิดควรจะได้รับการบำบัดฟื้นฟู แก้ไขพฤตินิสัยที่แตกต่างจาก ผู้ต้องขังทั่วไป นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์และกระทรวงศึกษาธิการควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้ต้องขังที่อยากศึกษาต่อแต่ไม่มีทุนทรัพย์ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาด้วย

References

เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ และคณะ. (2558). ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติดและการพัฒนาคุณภาพชีวิต. เอกสารวิจัย, สำนักงาน ป.ป.ส.

จันทิรา จินดามาตย์. (2553). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิงศึกษาเฉพาะกรณีทัณฑสถานหญิงชลบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยบูรพา.

ฉัตรกุล พงษ์ธรรม. (2556). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, สาขารัฐประศาสนศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์.

ทัศนีย์ อมาตกุล. (2548). ทัศนะต่อการฝึกวิชาชีพและสาเหตุการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกวิชาชีพทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง. สารนิพนธ์มหาบัณฑิตศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาการบริหารงานยุติธรรม, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นวลจันทร์ ทัศนชัยกุล. (2545). อาชญากรรม (การป้องกัน : การควบคุม). กรุงเทพฯ: พรทิพย์การพิมพ์.

Taro Yamane. (1973). Statistics: An Introductory Analysis. 3rd Ed. New York: Harper and Row Publications.

Wilson, W.W., & McLaren, R. C. (1973). Police Administration. New York: McGraw-Hill.

เผยแพร่แล้ว

21-12-2022