เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน เพื่อส่งบทความ

ในขั้นตอนการส่งบทความ ผู้แต่งต้องตรวจสอบและปฏิบัติตามข้อกำหนดรายการตรวจสอบการส่งทุกข้อ ดังต่อไปนี้ และบทความอาจถูกส่งคืนให้กับผู้แต่งกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมด

  • ต้นฉบับบทความนี้ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์มาก่อน และไม่ได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น
  • ไฟล์ต้นฉบับเป็นไฟล์เอกสารในรูปแบบ OpenOffice, Microsoft Word หรือ RTF
  • หากมี URL ของเอกสารอ้างอิง สามารถใส่ได้
  • ต้นฉบับนี้จัดเตรียมขึ้นตามข้อกำหนดด้านสไตล์และบรรณานุกรมที่ระบุไว้ในคำแนะนำสำหรับผู้เขียน

ประเภทของบทความที่จะตีพิมพ์

1. รายงานการวิจัยทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ เป็นบทความวิจัยหรือบทความงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรม และด้านวัฒนธรรม (การวิจัยงานศิลปะ การออกแบบ ประยุกต์ศิลป์ ดนตรี การแสดง สื่อศิลปะ ปรัชญาศิลป์ สุนทรียศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี) และการจัดการด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา พิพิธภัณฑ์

2. บทความวิชาการหรือบทความงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ เป็นบทความที่เสนอองค์ความรู้ แนวคิด วิธีการ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาต่างๆ ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ (การวิจัยงานศิลปะ การออกแบบ ประยุกต์ศิลป์ ดนตรี การแสดง สื่อศิลปะ ปรัชญาศิลป์ สุนทรียศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี) และการจัดการด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญา พิพิธภัณฑ์

3. บทความวิจารณ์หนังสือหรือบทความปริทัศน์ ในด้านที่เกี่ยวข้องกับทัศนศิลป์ การออกแบบ และการจัดการวัฒนธรรม


บทความที่จะผ่านการพิจารณาตีพิมพ์ได้ ต้องตรงตามหลักเกณฑ์ดังนี้

1.ต้องเป็นบทความที่ไม่เคยถูกนำไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารใดมาก่อน หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์อื่นๆ ในเวลาเดียวกัน

2. บทความต้องได้รับการพิจารณาให้ตีพิมพ์จากผู้ประเมินอิสระ (Peer Review) จากภายนอก มหาวิทยาลัยในสาขานั้นๆ อย่างน้อย 2 คน จาก 3 คน

3.บทความต้องได้รับความเห็นชอบจากกองบรรณาธิการ และอาจมีการดัดแปลง แก้ไข ปรับปรุงสำนวนและรูปแบบ ตามที่กองบรรณาธิการเห็นสมควร

4.ผู้ประเมินบทความจะเป็นผู้ให้ความเห็นและข้อแนะนำ ว่าบทความนั้นๆ จะได้รับการยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข หรือให้แก้ไข หากมีการแก้ไข ผู้เขียนจะต้องส่งบทความแก้ไขอีกครั้งและต้องแก้ไขบทความนั้นให้เสร็จภายใน 10-15 วันหลังจากได้รับผลการประเมิน

 


คำแนะนำในการเตรียมต้นฉบับ

1. ส่งบทความวิชาการ/วิจัย พร้อมปกนำส่งต้นฉบับ (ปกนำส่งต้องประกอบด้วยข้อมูลสำคัญ คือ e-mail address, เบอร์โทรศัพท์มือถือ, ชื่อ-นามสกุล และหน่วยงานที่สังกัด ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และระบุให้ชัดเจนว่าเป็นบทความวิจัย บทความวิชาการ หรือบทความปริทัศน์) สามารถดาวน์โหลดเทมเพลตได้ที่นี่ 

2. ส่งเป็นไฟล์นามสกุล .doc หรือ .docx และ .pdf ต้นฉบับควรมีความยาว ตั้งแต่ 5,000 คำ แต่ไม่ควรเกินกว่า 15,000 คำ (จำนวนคำถือตามการนับจำนวนคำใน Microsoft Word) หรือ จำนวนหน้า ตั้งแต่ 15 หน้า แต่ไม่ควรเกิน 25 หน้า (ไม่รวมบรรณานุกรม ภาพประกอบ และคำบรรยายภาพ) ตั้งขนาดกระดาษ A4 ระยะห่างจากขอบกระดาษ ทั้งด้านบนและด้านล่าง 1.5 นิ้ว ด้านซ้ายและด้านขวา 1 นิ้ว โดยใช้รูปแบบอักษร TH Sarabun ขนาด 16 point เท่านั้น ตัวเลขให้ใช้เป็นเลขอารบิคทั้งหมด

3. เพื่อให้ภาพประกอบที่ตีพิมพ์ในฉบับ Print มีความคมชัด กรุณาแนบไฟล์ภาพประกอบ นามสกุล .jpg, jpeg หรือ RAW หรือ TIFF ความละเอียด 300 Pixel / High Resolution ขนาดไฟล์ไม่ต่ำกว่า 500KB ไฟล์ภาพที่ส่งมาจะเป็นสีหรือขาวดำก็ได้ แต่ภาพในวารสารที่ตีพิมพ์แล้วจะเป็นภาพขาวดำเท่านั้น

4. บทความสามารถจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ และในกรณีที่เป็นภาษาอังกฤษ บทความดังกล่าวต้องผ่านผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบในการใช้ไวยากรณ์อย่างถูกต้องมาแล้ว

5. การเขียนภาษาไทยให้ยึดหลักการใช้คำศัพท์และชื่อบัญญัติตามหลักของราชบัณฑิตยสถาน ควรหลีกเลี่ยง การใช้ภาษาอังกฤษในข้อความภาษาไทย ยกเว้นกรณีจำเป็นและไม่ใช้คำย่อ นอกจากเป็นคำที่ยอมรับกันโดยทั่วไปกรณีจำเป็นให้เขียนคำศัพท์ภาษาไทยตามด้วยในวงเล็บภาษาอังกฤษ โดยคำแรกให้ขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ ส่วนคำที่เหลือทั้งหมดให้พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์เล็ก ยกเว้นชื่อเฉพาะ คำให้ขึ้นต้นด้วยพิมพ์ใหญ่

6. การปรากฏอยู่หลายที่ในบทความของศัพท์คำเดียวกันที่เป็นภาษาไทย ตามด้วยภาษาอังกฤษ ให้ใช้คำศัพท์ภาษาไทยตามด้วยภาษาอังกฤษครั้งแรก ครั้งต่อไปใช้เฉพาะคำศัพท์ภาษาไทยเท่านั้น

7. รายละเอียดการจัดหน้ากระดาษ
• แผ่นปก ชื่อเรื่องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พิมพ์ไว้ตรงกลางของหน้าแรกด้วยอักษร ขนาด 16 และพิมพ์ชื่อผู้เขียน คุณวุฒิ ตำแหน่ง และสถานที่ทำงาน (Institutional Affiliation(s)) ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยให้บอกหน่วยงานที่สังกัด ชื่อสถาบัน คณะ สาขา และที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ทางไปรษณีย์ เบอร์โทรศัพท์ และ E-mail address ใต้ชื่อเรื่องชิดขอบกระดาษด้านขวา
• ต้องมีเลขหน้ากำกับในเนื้อหาทุกหน้าโดยมีขนาด 16 ชนิดตัวธรรมดา ตำแหน่งชิดขอบ บนกระดาษด้านขวา ยกเว้นแผ่นปกไม่ต้องใส่
• ชื่อเรื่องต้นฉบับของผู้เขียน ชื่อเรื่อง (ภาษาไทย) ขนาด 16 ชนิดตัวหนา ตำแหน่งขอบกระดาษด้านซ้าย ชื่อเรื่อง (ภาษาอังกฤษ) ขนาด 16 ชนิดตัวหนา ตำแหน่งขอบกระดาษด้านซ้าย
• ชื่อผู้เขียน ขนาด 16 ชนิดตัวหนา ตำแหน่งตำแหน่งขอบกระดาษด้านขวาใต้ชื่อเรื่อง ถ้าผู้ เขียนเป็นชาวต่างประเทศให้นำชื่อสกุลขึ้นก่อนชื่อต้น
• บทความวิชาการให้เขียนบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษก่อนนำเสนอเนื้อหาบทความและมีการกำหนดคำสำคัญไม่เกิน 5 คำทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การเรียงหัวข้อของเนื้อเรื่องให้พิจารณาตามความเหมาะสม
• บทคัดย่อภาษาอังกฤษ(Abstract) ใช้อักษรตัวตรง ความยาวไม่ควรเกิน 250 คำ หรือ 15 บรรทัด
• หัวข้อเรื่อง ขนาด 16 ชนิดตัวหนา ตำแหน่งชิดขอบกระดาษด้านซ้าย
• หัวข้อย่อย ขนาด 16 ชนิดตัวธรรมดา ระบุหมายเลขหน้าหัวข้อย่อยโดยเรียงตามลำดับ หมายเลขตำแหน่งเว้น 1 Tab (0.5 นิ้ว) จากขอบกระดาษด้านซ้าย
• เนื้อหา ขนาด 16 ชนิดตัวธรรมดา จัดพิมพ์เป็น 1 คอลัมน์ และพิมพ์ให้ชิดขอบทั้งสองด้าน

8. การเรียงลำดับ รูปแบบของบทความวิจัย ควรเรียงลำดับเรื่องดังนี้
• บทคัดย่อภาษาไทย /ภาษาอังกฤษ
• คำสำคัญภาษาไทย 2-5 คำ / ภาษาอังกฤษ
• ที่มาและความสำคัญของปัญหา
• วัตถุประสงค์ของการวิจัย
• กรอบแนวคิดและ สมมติฐาน (ถ้ามี)
• วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
• วิธีการดำเนินการวิจัย
• ผลการวิจัย เสนอให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการวิจัย แต่ไม่ใช่สรุปเป็นข้อๆ
• ใช้ตารางเมื่อจำเป็นคำอธิบายตารางเสนอเฉพาะที่ต้องการชี้ประเด็นสำคัญ
• สรุปและอภิปรายผล เสนอเป็นความเรียงชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของผลที่ ได้กับกรอบแนวคิดและงานวิจัยที่ผ่านมา ไม่ควรอภิปรายตามสมมติฐานเป็น ข้อๆ แต่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของตัวแปรที่ใช้ศึกษาทั้งหมด
• ข้อเสนอแนะและแนวทางการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์
• เชิงอรรถ/เอกสารอ้างอิง/ บรรณานุกรม

9. ภาพประกอบ ผู้เขียนสามารถวางภาพประกอบแทรกไว้ในเนื้อหา โดยขึ้นบรรทัดใหม่และจัดวางภาพไว้ ใต้ข้อความที่เกี่ยวข้อง และมีคำบรรยายใต้ภาพ การบรรยายภาพให้พิมพ์ใต้ภาพ หากเป็นภาพที่มี ลิขสิทธิ์(เช่น จากหนังสือวารสารต่างๆ เป็นต้น) ต้องได้รับการอนุญาตก่อน และต้องมีการอ้างอิง reference ด้วยโดยระบุดังนี้ ตามรูปแบบ เช่น ภาพที่ 1 : (ที่มา : ชื่อ และ พ.ศ.) ให้ใช้คำว่า ภาพที่ 1 โดยเป็นตัวหนา ตามด้วยเครื่องหมายทวิภาค ( : ) และข้อความ บรรยายภาพ บรรทัดต่อมาเป็นที่มาของภาพ โดยระบุ แหล่งที่มา และปี พ.ศ.

10. การอ้างอิงเอกสาร ในเนื้อเรื่อง ใช้ระบบนาม ปี เป็นการอ้างอิงที่อยู่รวมกันกับเนื้อหาไม่แยกส่วน โดยอาจเขียนชื่อผู้แต่งที่ใช้อ้างอิงให้กลมกลืนไปกับเนื้อหาหรือจะแยกใส่ในวงเล็บท้ายข้อความอ้างอิงก็ได้
• นามของผู้เขียนภาษาไทย ให้เขียนชื่อ ให้ใช้พุทธศักราชและเลขหน้าเป็นเลขอารบิกทั้งหมด
• นามของผู้เขียนภาษาต่างประเทศ ให้เขียนเฉพาะนามสกุล (last name) ให้ใช้คริสต์ศักราชและเลขหน้าเป็นเลขอารบิคทั้งหมด
• เรื่องที่มีผู้เขียนมากกว่า 3 คนขึ้นไป ภาษาไทย ใช้ชื่อแรกแล้วตามด้วยคำว่า และคณะ แล้วจึงเป็น พุทธศักราชและเลขหน้า ส่วนภาษาต่างประเทศ ใช้เฉพาะนามสกุลคนแรก แล้วตามด้วย et al. และ ค.ศ. เช่น .........(Brown et al. 1978, 58)
• ผู้เขียนเดียวกัน เสนอเอกสารปีเดียวกัน ให้กำกับตัวอักษรตามลำดับ เช่น ก, ข, ค,... A, B, C,… ต่อจากปีพิมพ์ เช่น (ไพศาล เหล่าสุวรรณ และคณะ 2535ก, 199) หรือ (Brown1991A, 299)
• กรณีไม่มีชื่อผู้แต่ง ผู้รวบรวม ผู้แปล หรือบรรณาธิการ ให้ลงรายการชื่อเรื่องแทนและใช้ชื่อเรื่องเป็นตัวเอน เช่น (ทัศนศิลป์ 2550, 15)

11. การเขียนบรรณานุกรม เอกสารอ้างอิงทุกเรื่องที่ปรากฏในรายการอ้างอิง ให้นำมาเขียนเป็นบรรณานุกรมทุกรายการ ใช้วิธีการเขียนในรูปแบบ APA7