งานศิลปะกับเทียน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อพัฒนาศิลปกรรมกับชุมชน

Main Article Content

ไกรสร ประเสริฐ

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยผลงานของศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมด้วยเทียน ร่วมกับผลงานศิลปกรรมที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยทำการศึกษาวิเคราะห์พร้อมสร้างสรรค์วิธีการเตรียมพื้นด้วยเทียนบนไม้อัดเพื่อให้เกิดผลงานศิลปกรรมจากเทียน และนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปกรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งผลการวิจัยพบว่าการสร้างผลงานศิลปกรรมด้วยเทียนนั้นมีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยส่วนของการสร้างสรรค์ตามแบบประเพณี จะนำวัสดุเทียนมาหลอมขึ้นเป็นรูป แล้วจึงใช้วิธีการแกะหรือตกแต่งในรูปแบบของเทียนพรรษา ส่วนผลงานที่ศิลปินนำมาสร้างสรรค์ มักจะนำเทียนสำเร็จรูปมาสร้างผลงานโดยมีวัสดุอื่นมาประกอบ เช่น ไม้ เหล็ก โลหะ กระดาษ ผ้าใบ พลาสติก และอื่นๆ ซึ่งผลงานที่ศิลปินสร้างสรรค์ด้วยเทียนนั้น จะไม่มีรูปแบบใดแบบหนึ่งเป็นสำคัญแต่จะมีรูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกัน โดยศิลปินบางท่านได้นำทั้งสองวิธีคือ การแกะหรือตกแต่งเทียนมาผสมผสานกับการใช้เทียนสำเร็จรูปสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นผลงานศิลปะขึ้น
ในส่วนของการศึกษาวิจัยวิธีการเตรียมพื้นด้วยเทียนบนไม้อัด ได้ผลสรุปว่าสามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมได้ โดยมีผลการทดสอบว่ามีความแข็งแรงและคงทนต่อสภาพอากาศ ไม่แตกหักง่ายอย่างที่เข้าใจ ซึ่งผู้วิจัยได้ทดสอบการรองรับของเทียนที่เป็นการเตรียมพื้นบนไม้อัด ที่มีขนาดความหนาของเทียนกับกรอบไม้อัดที่รองรับซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ ได้จัดเตรียมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นบางส่วน
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยผลงานศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ด้วยเทียนจากศิลปินท่านต่างๆ พบว่าศิลปินไม่ได้เน้นวิธีการนำเทียนมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีรูปแบบโดดเด่นมากนัก แต่ต้องการนำเทียนมาใช้เป็นสื่อหรือเครื่องมือในการเผยแพร่ผลงานศิลปะเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากกว่า โดยการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ศิลปินจะเป็นผู้กำหนดกรอบหรือบริเวณของผลงานไว้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับผลงานที่จัดเตรียมให้ ซึ่งทั้งศิลปินและประชาชนจะได้ร่วมลงมือเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมร่วมกัน เพื่อให้ผลงานนั้นมีความสมบูรณ์
นอกจากนี้ผลงานศิลปกรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วมยังสามารถทำได้หลากหลายวิธีการตามลักษณะผลงานของศิลปินที่ได้ค้นคว้าหรือจัดเตรียมไว้ ซึ่งจะมีทั้งการที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมสัมผัสผลงาน การร่วมกิจกรรมที่ศิลปินจัดเตรียมไว้ เช่น การปล่อยหิน การเขียนไปรษณียบัตร การกินดื่มและวิธีการอื่นๆ ซึ่งลักษณะผลงานศิลปกรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าวนี้ ไม่ได้มีการคาดหวังว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในผลงานมากหรือน้อยเพียงใด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะนั้นตามความสนใจของแต่ละคนจริงๆ
โดยสรุปแล้วผลงานศิลปกรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม จะต้องเริ่มต้นจากการสร้างสรรค์แนวคิดและวิธีการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ก่อน จากนั้นวิธีการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวศิลปินกำหนด ซึ่งหากมีวิธีการที่ยุ่งยากประชาชนก็จะมีส่วนร่วมได้ค่อนข้างยาก หรือมีความสนใจที่จะร่วมด้วยน้อย ทำให้มีเพียงผู้ที่ให้ความสนใจมีส่วนร่วมด้วยจริงๆ จำนวนน้อยเท่านั้น
จากข้อมูลการวิจัยจึงสรุปได้ว่า วิธีการที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้ง่ายคือการสัมผัสผลงาน การฟัง การพูด การร่วมเขียน ร่วมวาดหรือระบาย การกินดื่ม การเป่าลม การจุดเทียน เป็นต้น สำหรับการให้ลงมือปฏิบัติการหลอมเทียน หรือการแกะการตกแต่งนั้น ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้น้อย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กำจร สุนพงษ์ศรี. 2554 ศิลปะสมัยใหม่ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดาเนียล มาร์โซนา. 2552 คอนเซ็ปชวลอาร์ต กรุงเทพฯ บริษัท เดอะเกรทไฟน์อาร์ท จำกัด

ถนอม ชาภักดี. 2545. ศิลปปริทัศน์ เชิงอรรถการวิจารณ์. กรุงเทพฯ : เนชั่นมัลติมิเดียกรุ๊ป จำกัด.

มณเฑียร บุญมา.2533. ผลงานศิลปกรรมชุดไทยไทย. กรุงเทพฯ : ฉลองรัตน์ จำกัด.

นิตยสาร Art Record Thailand. คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ ปีที่ 2 ฉบับที่ 13, อัมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง, กรุงเทพฯ. 2538

วิโชค มุกดามณี.รศ., 2545. สื่อประสมและศิลปะแนวจัดวางในประเทศไทย.หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด.

สุธี คุณาวิชยานนท์.จากสยามเก่าสู่ไทยใหม่. 2545.หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง.

สูจิบัตร ตายก่อนดับ: การกลับมาของมณเฑียร บุญมา. 2548. สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม.

สูจิบัตร ไม่มีคำประกอบ 2539 (จราจร). 2540. ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช นาวิน แกลเลอรี่. กรุงเทพฯ.