แนวทางการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการและการพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ของสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หลังสถานการณ์โควิด-19

ผู้แต่ง

  • พรพิมล วัฒโน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • มนต์ ขอเจริญ คณะนิเทศศาตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ, โควิด-19, สถาบันฝึกอบรมด้านการบิน

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ
และการพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รวมทั้งแนวทางการการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการและการพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของสถาบันการบินฯ หลังสถานการณ์โควิด-19
โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารของสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และผู้บริหารสถาบัน
ไทยอินเตอร์ไฟลอิ้ง จำนวน 3 ท่าน

ผลการศึกษาพบว่า ธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เป็นอย่างมาก โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัจจัยซึ่งที่มีผลต่อการสื่อสารการตลาดด้วยกัน 7 ปัจจัยคือ 1) ด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก 2) ปัจจัยด้านมาตรการสาธารณสุข 3) ปัจจัยนโยบายด้านงบประมาณ
4) ปัจจัยด้านพฤติกรรมผู้บริโภค 5) ปัจจัยด้านเทคโนโลยี 6) ปัจจัยด้านการเงิน 7) ปัจจัยด้านสุขภาพจิต โดยทั้ง 7 ปัจจัยนั้นมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันภายใต้เงื่อนไขของการแพร่ระบาดของโควิด-19

แนวทางการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการและการพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก หลังสถานการณ์
โควิด-19 จากการศึกษาพบว่าสถาบันการบินฯ  มีการใช้เครื่องมือทางการสื่อสารทั้งประเภทออฟไลน์และออนไลน์ โดยเครื่องมือการสื่อสารออฟไลน์คือ การขายโดยบุคคล (Personal Selling) เพราะการสื่อสารเกี่ยวกับหลักสูตรด้านการบินต้องอาศัยความน่าเชื่อถือของบุคลากรผู้ควบคุมการสอนและหลักสูตรที่ได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้อัตราค่าลงทะเบียนที่สูง ทำให้ผู้เรียนต้องการข้อมูลอย่างละเอียดในการประกอบการตัดสินใจ ซึ่งการขายโดยบุคคลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและตอบประเด็นคำถามที่ผู้เรียนสงสัยได้มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้กลยุทธ์แบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ซึ่งผู้เรียนอาจแนะนำสถาบันการบินฯ แบบปากต่อปากไปยังบุคคลที่รู้จัก เนื่องจากความพึงพอใจที่ผู้เรียนได้รับจากทางสถาบันการบินฯ รวมถึงการบริการต่าง ๆ ทำให้เกิดการรับรู้แบรนด์ในเชิงบวกในระดับบุคคลจนถึงระดับองค์กร

นอกจากนี้ก็ยังมีการนำเครื่องมือด้านออนไลน์เข้ามาผสมผสาน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยช่องทางการสื่อสารแบบออนไลน์ที่เลือกใช้ได้แก่ เว็บไซต์, Facebook และช่องทางที่กำลังเป็นที่นิยมทั้ง YouTube, Instagram, Twitter, TikTok ซึ่งการพิจารณาเลือกใช้แพลตฟอร์ม (Platform) ในการสื่อสารจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและความนิยมของกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายและเหมาะสม ทว่าหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการคือ การสื่อสารที่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่องค์กรได้ตั้งไว้

References

บรรณานุกรม

ภาษาไทย
ดารา ที่ปะปาล. (2541). การสื่อสารการตลาด. กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์.
ผู้จัดการออนไลน์. โควิด-19 ดันอสังหาฯ เข้าสู่ยุค Digital Marketing เต็มรูปแบบ. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://mgronline.com/stockmarket/detail/9630000042422
บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน). รายงานประจำปี 2562. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://corporate.airportthai.co.th/wp-content/uploads/2019/12/AnnualReport2019th.pdf
มานิต รัตนสุวรรณ. (2553). ยุทธศาสตร์การตลาด. กรุงเทพฯ: สุขขุมวิทการพิมพ์.
ศิริวรรณ เสรีรัตน์ และคณะ. (2537). กลยุทธ์การตลาด การบริหารการตลาด และกรณีตัวอย่าง. กรุงเทพฯ: พัฒนาศึกษา.
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย. รายงานสถิติการขนส่งทางอากาศ ไตรมาสที่ 1 – 2 ประจำปี 2563. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.caat.or.th/th/archives/52894
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย. รายงานสภาวะอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยปี 2560. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.caat.or.th/th/archives/36535
SCB Economic Intelligence Center. ผลกระทบ Covid-19 กับการตกงาน. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/6775


ภาษาอังกฤษ
International Air Transport Association. Jobs at Risk with Airline. [website].
https://www.iata.org/en/pressroom/pr/2020-04-07-02/

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-03