การประเมินโครงการเตรียมความพร้อมในการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ฝึกหัด โรงพยาบาลตำรวจ

Main Article Content

รัชนี ชาญสุไชย
เก็จกนก เอื้อวงศ์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการดำเนินการโครงการเตรียมความพร้อมในการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ฝึกหัด โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ประธานอนุกรรมการแพทยศาสตรศึกษา จำนวน 1 คน อนุกรรมการแพทยศาสตรศึกษาจำนวน 5 คน แพทย์ฝึกหัดในปี พ.ศ. 2559 จำนวน 65 คน และข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการแพทยศาสตรศึกษา ข้อมูลพื้นฐานของแพทย์ฝึกหัด และแบบบันทึกข้อมูลผลการสอบผ่านขั้นที่ 2 จากแพทยสภา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูลประกอบด้วย แนวคำถามในการสัมภาษณ์ แบบบันทึกข้อมูลเอกสาร กรอบในการสังเกตพฤติกรรม และแบบสอบถามความพึงพอใจของแพทย์ฝึกหัดต่อโครงการเตรียมความพร้อมแพทย์ฝึกหัด โรงพยาบาลตำรวจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยปรากฏดังนี้ (1) ผลการประเมินปัจจัยเบื้องต้นพบว่า ส่วนใหญ่มีความเหมาะสม อาจารย์แพทย์มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่จำนวนอาจารย์แพทย์และเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอและขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงานในโครงการ เทคโนโลยีที่ใช้มีความเหมาะสมแต่สื่อวัสดุอุปกรณ์ด้านการสอนยังมีไม่เพียงพอ งบประมาณมีการวางแผนการใช้อย่างเป็นระบบ (2) ผลการประเมินกระบวนการดำเนินการโครงการมีความเหมาะสมทุกด้าน ได้แก่ ด้านการเตรียมการ ด้านการดำเนินการ ด้านการนิเทศและติดตาม และ (3) การประเมินผลการดำเนินการโครงการพบว่า (3.1) แพทย์ฝึกหัดเข้าฟังบรรยาย และเข้ารับการฝึกปฏิบัติผ่านเกณฑ์การประเมิน (3.2) การสอบผ่านการซ้อมสอบขั้นตอนที่ 2 ในรูปแบบของข้อสอบแบบเลือกตอบไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน (3.3) อัตราการสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพขั้นตอนที่ 2 ของแพทย์ฝึกหัด ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน และ (3.4) แพทย์ฝึกหัดมีความพึงพอใจในโครงการเตรียมความพร้อมในการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยรวมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์ประเมิน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กนกวรรณ ศรีรักษา. (2554). การประเมินทักษะทางคลินิกด้วย Objective Structured Clinical Examination (OSCE). ขอนแก่นเวชสาร, 35(2), 4-6.

เชาว์ อินใย. (2553). การประเมินโครงการ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นิศา ชูโต. (2544). การประเมินโครงการ. ในประมวลสาระชุดวิชาการวิจัยการบริหารการศึกษา. หน่วยที่ 14. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ปนัดดา โรจนพิบูลสถิตย์. (2555). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อผลสัมฤทธิ์ในการสอบเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในขั้นตอนที่หนึ่งของนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ธรรมศาสตรเวชสาร, 12(3), 527-537.

ประนอม บุพศิริ. (2556). ผลสัมฤทธิ์ของการสอบประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมขั้นตอนที่ 1 และ 2 ของนักศึกษาแพทย์ในโครงการต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ศรีนครินทร์เวชสาร, 28(4), 516-523.

พรทิพา ทักษิณ. (2554). ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การเตรียมความพร้อม และ ผลการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง ของผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี. วารสารสภาการพยาบาล , 26(3), 117-129.

แพทยสภา. (2555) เกณฑ์ว่าด้วยการขอเปิดดำเนินการ/ปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สืบค้นจาก https://www.tmc.or.th/news_file/36-2555-22-06-55.pdf.

แพทยศาสตรศึกษา โรงพยาบาลตำรวจ. (2557). รายงานการประชุมคณะกรรมการแพทยศาสตรศึกษาโรงพยาบาลตำรวจ พ.ศ. 2557.

วีระพล จันทร์ดียิ่ง. (2556). ความเป็นวิชาชีพแพทย์: วิธีการสอนและการเรียนบทบาทและการประเมิน. สงขลานครินทร์เวชสาร, 31(3), 155-166.

อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล. (2555). การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กับการใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานในการเรียนการสอน.สืบค้นจาก https://www.cpird.in.th/images/cpird/Com-Hospital/%2031%20%2058.pdf.

Stufflebeam, D.L. (2004). The 21st century CIPP model. In Alkin, M.C. (Ed). Evaluation roots: Tracing theorists’ views and influences (p. 276 –291). London: Sage Publications.