การวัดผลการศึกษา การประเมินผล และอัตราการสำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเปิด ใน Asian Association of Open Universities [AAOU]

Main Article Content

สุภมาส อังศุโชติ
กุญชร เจือตี๋

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการวัดผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเปิดใน AAOU 2) ศึกษาการประเมินผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเปิดใน AAOU 3) ศึกษาอัตราการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิด ใน AAOU และ 4) ศึกษาลักษณะการวัดและการประเมินผลการศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิดใน AAOU ที่มีอัตราการสำเร็จการศึกษาสูง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ มหาวิทยาลัยเปิดที่เป็นสมาชิก AAOU จำนวน 20 แห่ง เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถาม เก็บข้อมูลโดยส่งทางไปรษณีย์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา


ผลการวิจัย พบว่า


1) มหาวิทยาลัยเปิดส่วนใหญ่ใน AAOU มีการวัดผลการศึกษาโดยเก็บคะแนนระหว่างภาค ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างภาคที่แตกต่างกัน โดยคะแนนระหว่างภาคสูงสุด คือ ร้อยละ 50 วิธีการเก็บคะแนนระหว่างภาคใช้การให้การบ้านเป็นรายคน การให้ทำงานกลุ่ม ทำโครงงาน ทำกิจกรรมจากเอกสารการสอน การสอบกลางภาค การทดสอบทางออนไลน์  การนำเสนอผลงานผ่านวิดีโอ วิธีการส่งงานที่มอบหมายส่วนใหญ่ให้นักศึกษาส่งงานโดยการพิมพ์แล้วส่งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) โดยให้อาจารย์เป็นผู้ตรวจให้คะแนน การออกข้อสอบส่วนใหญ่อยู่ในรูปคณะกรรมการ มีหน่วยงานรับผิดชอบในการผลิตแบบทดสอบ ใช้ข้อสอบหลายรูปแบบ ที่นิยม ได้แก่ อัตนัยแบบตอบยาว อัตนัยแบบตอบสั้น เลือกตอบแบบ 4 ตัวเลือก ใช้การออกข้อสอบใหม่ทุกครั้งที่มีการสอบ หรือสุ่มข้อสอบจากคลังข้อสอบที่ทำคลังเมื่อผลิตเอกสารการสอนเสร็จโดยออกข้อสอบจำนวนมากๆ จัดสอบวัน-เวลาเดียวกันทั่วประเทศตามตารางสอบที่กำหนดไว้ การรับ-ส่งข้อสอบไปยังภูมิภาคต่างๆ ใช้การส่งทางไปรษณีย์ มหาวิทยาลัยจัดส่งเองโดยมีผู้ควบคุมจากส่วนกลางไป-กลับพร้อมกับข้อสอบ นอกจากการสอบแบบเขียนตอบลงบนกระดาษ (Paper and pencils testing) แล้วยังมีระบบสอบออนไลน์ (Online testing) และระบบสอบด้วยคอมพิวเตอร์ (Computerized testing) โดยจัดสอบที่ศูนย์บริการการศึกษาของมหาวิทยาลัย สำหรับวิธีการตรวจข้อสอบอัตนัยมีการประชุมเกณฑ์การให้คะแนนก่อนตรวจ และมีการกำหนดให้มีผู้ตรวจแต่ละวิชามากกว่า 1 คน ส่วนใหญ่มีการจัดสอบซ่อมในภาคการศึกษาเดียวกัน บางแห่งใช้วิธีสอบปากเปล่า หรือทดสอบออนไลน์โดยมีผู้ควบคุม การเขียนรายงานเพิ่มเติม ทำกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัย ทำการทดสอบหรือทำโครงงานที่บ้านแทนการสอบซ่อม


2) มหาวิทยาลัยเปิดส่วนใหญ่ใน AAOU มีการประเมินผลการศึกษาโดยตัดสินผลการสอบส่วนใหญ่ใช้แบบอิงเกณฑ์และพิจารณาลักษณะกลุ่มที่เข้าสอบประกอบ การกำหนดลำดับขั้นคะแนนมี 3 กรณี คือ กำหนดสัญลักษณ์ที่ไม่ใช้ ตัวอักษร A, B, C, … กำหนดสัญลักษณ์เป็นตัวอักษร A, B, C,….. , แต่ไม่มีเครื่องหมาย +/- และกำหนดสัญลักษณ์เป็นตัวอักษร A, B, C,… และมีเครื่องหมาย +/- ผู้ดำเนินการตัดสินผลการสอบของมหาวิทยาลัยเปิด คือ อาจารย์ผู้สอนเท่านั้น หรืออยู่ในรูปคณะกรรมการ ส่วนใหญ่นำระดับคะแนนที่สอบไม่ผ่าน (failed) มาคำนวณ GPAX ด้วย


3) อัตราการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิด ใน AAOU สามารถจัดได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มีอัตราการสำเร็จการศึกษาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป โดยมีอัตราการสำเร็จระหว่างร้อยละ 50.00-74.99 กับกลุ่มที่มีอัตราการสำเร็จการศึกษาน้อยกว่าร้อยละ 50 โดยมีอัตราการสำเร็จร้อยละ 5.71-25.00


4) มหาวิทยาลัยเปิดส่วนใหญ่กลุ่มที่มีอัตราการสำเร็จการศึกษาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ส่วนมากให้ระยะเวลาศึกษา 2 เท่าของหลักสูตร และให้ทำกิจกรรมที่มอบหมาย เป็นกิจกรรมหลัก วิธีการเก็บคะแนนระหว่างภาค โดยการสอบกลางภาค ให้ทำกิจกรรมจากเอกสารการสอน และการให้ทำงานกลุ่ม และมีการบังคับให้ทำกิจกรรมระหว่างภาค ผู้ออกข้อสอบในแต่ละวิชาส่วนใหญ่อยู่ในรูปคณะกรรมการ ใช้ข้อสอบที่สุ่มจากคลังข้อสอบ โดยจัดทำคลังข้อสอบเมื่อผลิตเอกสารการสอนเสร็จโดยออกข้อสอบจำนวนมากๆ จัดเก็บในคลังข้อสอบ รับ-ส่งข้อสอบไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยมีผู้ควบคุมจากส่วนกลางไปพร้อมกับข้อสอบ เมื่อดำเนินการสอบเสร็จก็นำกลับมาส่วนกลาง มี การสอบออนไลน์ ส่วนใหญ่ตัดสินผลสอบแบบอิงเกณฑ์และพิจารณาลักษณะกลุ่มที่เข้าสอบประกอบด้วย นำระดับคะแนนที่สอบไม่ผ่าน (failed) มาคำนวณ GPAX ด้วย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ชนกนารถ บุญวัฒนะกุล. (2555). รายงานการวิจัยเรื่อง แนวโน้มของรูปแบบการเรียนการสอนในระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

พงศ์ศรันย์ พลศรีเลิศ. (2559). การกำหนดเป้าหมายขององค์กร. (Goal Setting) [email protected]. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2559.

พอพันธ์ อุยยานนท์ และคณะ. (2557). การเทียบเคียงระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชกับมหาวิทยาลัยเปิดชั้นนำในต่างประเทศ. (รายงานการวิจัย). นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ทิพย์ฆัมพร เกษโกมล และ สายสมร เฉลยกิตติ. (2557). การเขียนข้อสอบแบบเลือกตอบเพื่อส่งเสริมการคิดแบบมีวิจารณญาณ ตามกรอบกระบวนการพยาบาล. วารสารพยาบาลทหารบก. 15(2) (พ.ค. - ส.ค.), 71-77.

ศูนย์วิชาการประเมินผล สำนักทะเบียนและวัดผล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). สรุปสาระการศึกษาดูงาน แนวทางการพัฒนาการวัดและประเมินผลในระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยเปิดแห่งประเทศศรีลังกา. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ศูนย์วิชาการประมินผล สำนักทะเบียนและวัดผล (2559) รายงานผลการสอบ Walk-in Exam ภาคการศึกษาที่ 2/2558 เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสอบตามความพร้อมของนักศึกษารายบุคคลด้วยคอมพิวเตอร์ (Walk-in exam). เมื่อ 16 กันยายน 2559. เวลา 13.30 น.

สุพิมพ์ ศรีพันธ์วรสกุล และคณะ. (2553). รายงานโครงการศึกษาดูงานด้านการประเมินผลการศึกษาออนไลน์ในระบบการเรียนการสอนทางไกลที่มหาวิทยาลัยเปิดแห่งอินโดนีเซีย. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

สุมาลี สังข์ศรี. (2549). การศึกษาทางไกล. นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

สุมาลี สังข์ศรี และคณะ. (2545). การศึกษาทางไกลในมหาวิทยาลัยที่คัดสรรจากประเทศต่างๆ: ประสบการณ์เพื่อประยุกต์สู่การพัฒนาระบบการศึกษาทางไกลของไทยในศตวรรษที่ 21. (รายงานการวิจัย). นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

สุภมาส อังศุโชติ และคณะ. (2549). การประเมินการทำกิจกรรมประจำชุดวิชาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (รายงานการวิจัย). นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (เอกสารอัดสำเนา).

สุภมาส อังศุโชติ และคณะ. (2553). รายงานการวิจัยจากงานประจำ เรื่อง การประเมินระบบวัดผลตามความพร้อมของนักศึกษารายบุคคลด้วยคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (เอกสารอัดสำเนา).

อานุภาพ เลขะกุล การสร้างข้อสอบแบบเลือกตอบ (Multiple choice question) แหล่งข้อมูลด้านแพทยศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สงขลา: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2559. https://des.cda.or.th/home/DownloadFiles?fileName=MCQ_Arnupa.pdf