แนวทางการพัฒนาสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วสู่สายพันธุ์ใหม่ของโลก ในมิติทางสังคมศาสตร์

Main Article Content

รสิกา อังกูร
ปาลีรัตน์ การดี
ธนนัน แจ้งเกษมสุข

บทคัดย่อ

                     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาลักษณะพื้นฐานและการเลี้ยงดูสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว 2)ศึกษาลักษณะมาตรฐานสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว และ 3) ศึกษาแนวทางการพัฒนาสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของโลก กลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการคัดเลือกแบบเจาะจงทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงและพัฒนาสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว จำนวน 21 แห่ง กลุ่มผู้ตัดสินการประกวดและผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุนัขบางแก้วจำนวน 9 คน และกลุ่มสุนัขที่ได้รับการพัฒนาจากกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงจำนวน 21 ตัว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างสำหรับกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงและกลุ่มกรรมการ/ผู้ทรงคุณวุฒิ แบบบันทึกพันธุ์ประวัติสุนัข แบบบันทึกข้อมูลลักษณะสุนัข  แบบเปรียบเทียบลักษณะสุนัขตามมาตรฐานพันธุ์ แบบเปรียบเทียบลักษณะสุนัขตามเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ และเครื่องบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์ พร้อมบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของสุนัข การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้ร้อยละ ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและสังเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้


                   ลักษณะพื้นฐานและการเลี้ยงดูสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วเป็นสุนัขขนาดกลางจัดอยู่ในกลุ่ม Spitz โครงสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีสัดส่วนที่กลมกลืน เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว มีลักษณะพื้นฐานที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ 8 ประการ สำหรับการเลี้ยงดูสุนัขบางแก้ว มีการให้อาหารที่เหมาะสมกับวัย อายุ และน้ำหนักของสุนัข มีการให้สุนัขออกกำลังกายเป็นเวลาวันละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10-15นาที การฝึกวินัยจะเน้นการฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา วันละ 2 ครั้ง มีการจัดสภาพแวดล้อมให้สุนัขอยู่ในกรง และพาสุนัขเข้าสังคมอยู่เสมอ


                   ลักษณะมาตรฐานสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว สุนัขบางแก้วมีลักษณะของริมฝีปาก สีจมูกและสันจมูกกรวยปาก ฟัน คอ เอว เส้นล่าง ข้อขาหน้า และขน ที่ถูกต้องตามมาตรฐานพันธุ์ ส่วนลักษณะที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานพันธุ์ ได้แก่ เท้าหลัง เท้าหน้า และหลัง ตามลำดับ สำหรับเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ พบว่าสุนัขทั้ง 21 ตัว มีแข้งสิงห์ที่ถูกต้องตามเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ ส่วนลักษณะที่ยังไม่ถูกต้องตามเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ ได้แก่ ขนชายท้อง และเครา ขนหน้าอก สำหรับการถ่ายทอดจุดเด่น-จุดด้อยในสายตระกูล สิ่งที่มีการถ่ายทอดมาก ที่สุด ได้แก่ จิตประสาท โครงสร้าง และขน ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่สิ่งที่ถ่ายทอดจะเป็นลักษณะเด่นมากกว่าลักษณะด้อย สิ่งที่สุนัขได้รับจากการพัฒนาอย่างชัดเจนคือเรื่องโครงสร้าง จิตประสาท และ ลักษณะการเคลื่อนไหว ส่วนสิ่งที่สุนัขต้องพัฒนาต่อไปคือ ขนาดของขาหลัง ลักษณะกระดูกเล็กและบาง  ความดุ และหวาดระแวง


                  แนวทางการพัฒนาสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของโลก กระบวนการพัฒนาสุนัขควรเริ่มตั้งแต่การศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับตัวสุนัข จุดเด่น จุดด้อย ประวัติสายตระกูล ลักษณะการถ่ายทอดในสายตระกูล การคัดเลือกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่สามารถลดจุดด้อย และมีจุดเด่นที่ต้องการมาผสมพันธุ์ โดยผู้เพาะเลี้ยงควรให้ความสำคัญกับระบบการบันทึกข้อมูลพันธุ์ประวัติ  ควรบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวสุนัขอย่างรอบคอบ ตรงตามความเป็นจริง ทั้งนี้คอก/ผู้เพาะเลี้ยง ควรร่วมมือกันสร้างแนวทางในการพัฒนาสุนัขบางแก้ว โดยร่วมกันคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีจุดเด่นมาพัฒนาร่วมกัน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ธนนัน แจ้งเกษมสุข. (2552). ปัญหาและการเลี้ยงดูสุนัขบางแก้ว. สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2552 และ 17 ตุลาคม 2552. จาก www.bangkaewclub.com

นิสิต ตั้งตระการพงษ์. (2555). การสัมมนาวิพากษ์ผลการวิจัย. 17 มีนาคม 2555. โรงแรมที เค พาเลซ. กรุงเทพฯ.

พรรณี อำนวยสิทธิ์. (2535). การสำรวจข้อมูลพื้นฐานลักษณะทั่วๆไปของสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว จ.พิษณุโลก : ลักษณะสีขนและลักษณะภายนอก. รายงานการวิจัย. (เอกสารอัดสำเนา).

วรวุธพงศ์ ศรีเมือง. (มปป.) หมาบางแก้ว สัตว์คู่บ้านเมืองสองแคว. มปท. (เอกสารอัดสำเนา).

สุรวิช วรรณไกรโรจน์. (2536). การวิเคราะห์ประวัติสุนัขพันธุ์ไทย. รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

www.fci.be/nomenclature.aspx. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2555

www.petnews2005.com สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2552