การพัฒนาเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนในเขตลุ่มน้ำมูล
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาสถานการณ์ศูนย์ข้าวชุมชนในเขตลุ่มน้ำมูล 2.เพื่อพัฒนาเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนในเขตลุ่มน้ำมูล และ 3. เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนในเขตลุ่มน้ำมูล การวิจัยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจงกับศูนย์ข้าวชุมชนที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำมูลจาก 9 จังหวัดจำนวน 28 ศูนย์ข้าวชุมชนแต่ละศูนย์ข้าวชุมชน คัดเลือกตัวแทนผู้นำและสมาชิกแบบเจาะจง เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือการวิจัยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง แบบประเมินองค์ประกอบตัวชี้วัดความเข้มแข็งของศูนย์ข้าวชุมชน และประเด็นการสัมมนา การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา คือ ค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ ข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์โดยการเปรียบเทียบ การศึกษาความเป็นเหตุและผล การอธิบายให้ความหมาย และการจัดหมวดหมู่ข้อมูล
ผลการวิจัยพบว่า
1. สถานการณ์การดำเนินงานของศูนย์ข้าวชุมชนที่ศึกษา จัดตั้งมาแล้วเฉลี่ยประมาณ 8 ปี โดยได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว และ อบต. สภาพพื้นที่เป็นทั้งพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่ดอน การผลิตเมล็ดพันธุ์มีการปลูกและคัดเลือกพันธุ์ปน ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นข้าวขาวดอกมะลิ 105 การกระจายพันธุ์ข้าวส่วนใหญ่กระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกรในชุมชน และในพื้นที่ใกล้เคียง ด้านการบริหารกลุ่มมีการตั้งกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน กรรมการ เหรัญญิก และเลขานุการ มีแปลงเรียนรู้ตามระบบแปลงโรงเรียนเกษตรกร ด้านการบริหารกองทุนมีกฏระเบียบในการบริหารกองทุน และมีการปันผลให้กับสมาชิก สภาพปัญหาการดำเนินงานของศูนย์ข้าวชุมชนที่มีความรุนแรงในระดับมาก ได้แก่ ปัญหาด้านการบริหารกลุ่มในเรื่องของภาวะความเป็นผู้นำ การวางแผนและกิจกรรมกลุ่ม การติดตามและประเมินผลกลุ่ม กฏระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม และการประชุมกลุ่ม ปัญหาที่มีความรุนแรงในระดับปานกลาง ได้แก่ ปัญหาด้านความรู้ ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ ด้านการตลาดและการกระจายพันธุ์ ด้านการจัดการทุน
2. การพัฒนาเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนในเขตลุ่มน้ำมูล ประกอบด้วย 1) การพัฒนาขั้นตอนการพัฒนาเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนในเขตลุ่มน้ำมูล มี 6 ขั้นตอนได้แก่ การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน มี 4 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนากระบวนการบริหารเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนากิจกรรมของเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยง การพัฒนาการเชื่อมโยงศูนย์ข้าวชุมชนกับองค์กรต่างๆ และการพัฒนาการสนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชนจากภาครัฐ การจัดทำตัวชี้วัดความเข้มแข็งของเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน มี 4 ประเด็นตัวชี้วัด คือ (1) กระบวนการบริหารเครือข่าย (2) กิจกรรมของเครือข่าย (3) การเป็นเครือข่าย/การประสานงานกับกลุ่มองค์กรต่างๆ และ (4) การสนับสนุนจากภาครัฐ การวางยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาเครือข่าย ประกอบด้วย แนวยุทธศาสตร์ด้านการขยายเครือข่าย ด้านการตลาด และด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่วนแผนการพัฒนาเครือข่ายเป็นแผนของแต่ละศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการอบรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาดูงานและการประชุมวางแผนเครือข่ายในระดับจังหวัดและในระดับลุ่มน้ำมูล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการศึกษาดูงาน 2 จุดคือ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมแบบพอเพียงจังหวัดยโสธร และศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดสุรินทร์ การติดตามผลความก้าวหน้าการพัฒนาเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน มีการติดตามผลหลังจากมีแผนแล้ว 1 ครั้ง และการประเมินผลการพัฒนาเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน พบว่า ศูนย์ข้าวชุมชนได้มีการดำเนินการตามตัวชี้วัดได้ค่อนข้างเกือบครบทุกประเด็นของตัวชี้วัด แต่มีบางประเด็นที่สมาชิกเกือบครึ่งยังไม่มีการดำเนินการ ได้แก่ ด้านกิจกรรมการตลาดของเครือข่ายเรื่องตราสัญลักษณ์ ถุงบรรจุมาตรฐานเดียวกัน การรับซื้อเมล็ดพันธุ์จากกลุ่มเครือข่ายเพื่อมาจำหน่าย และการตรวจสอบย้อนกลับโดยเครือข่าย กิจกรรมการแลกเปลี่ยนและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวเรื่องการอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ข้าวท้องถิ่นในเครือข่าย และการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวระหว่างกลุ่ม ด้านการเป็นเครือข่าย/การประสานงานกับกลุ่มองค์กรต่างๆ ได้แก่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ร้านค้า และโรงสี 2) แนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน มี 4 ประการ คือ (1) แนวทางการพัฒนาเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน (2) แนวทางการสร้างเครือข่ายการตลาดและการกระจายพันธุ์ (3) การกำหนดประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของศูนย์ข้าวชุมชน และ (4) แนวทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน
3. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครือข่าย มี 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ วิสัยทัศน์และการนำองค์กร การวางแผนยุทธศาสตร์กระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพผลผลิต การจัดหาแหล่งเงินทุน การจัดการระเบียบข้อบังคับและการพัฒนาบุคลากรของศูนย์ข้าวชุมชน ส่วนปัจจัยภายนอก ประกอบด้วย การยอมรับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของชาวนากลุ่มเป้าหมาย เทคโนโลยีที่ทันสมัยของเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตพันธุ์ข้าว ราคาพันธุ์ข้าวและคู่แข่งขัน นโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ การค้าเสรีในกลุ่มประเทศอาเซี่ยน การแข่งขันของประเทศคู่แข่ง และการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง
Article Details
บทความ ข้อความ ภาพประกอบ ตารางประกอบ ที่ตีพิมพ์ในวารสารเป็นความคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแต่อย่างใด
บทความที่เสนอพิจารณาในวารสาร e-JODIL ต้องเป็นบทความที่ไม่เคยส่งไปลงพิมพ์ เผยแพร่ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาของวารสารอื่น
กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาและตัดสินการตีพิมพ์บทความในวารสาร
References
ขนิฏฐา กาญจนรังสีนนท์ (2555) การสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนา สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 จาก http://www.google.co.th/url
โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรตามโครงการพัฒนาไทย-เนเธอร์แลนด์ (2536) คู่มือการทำงานกับเกษตรกรรายย่อยโดยกระบวนการกลุ่ม กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมการเกษตร
ธนา ประมุขกุล (2544) การพัฒนาเครือข่ายสื่อบุคคลเพื่อการประชาสัมพันธ์. สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นฤมล นิราทร (2542) การสร้างเครือข่ายการทำงาน คู่มือ (เอกสารอัดสำเนา)
ปาน กิมปี (2540) การพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้การศึกษานอกโรงเรียนเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน วิทยานิพนธ์ดุษฏีบัณฑิต พัฒนาศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (2547) เครือข่าย: ธรรมชาติ ความรู้ และการจัดการ. กรุงเทพฯ : โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส).
สัจจา บรรจงศิริ และคณะ (2549) การพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สันติ อุทัยพันธุ์ (2546) การพัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแก่กองทุนหมู่บ้านของเครือข่าย คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านระดับตำบล จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี
อัจฉรา จิตตลดากร และคณะ (2549) โครงการวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาปรับปรุงและสร้างมูลค่าเพิ่มกับกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร อาหารจากไร่นาถึงผู้บริโภคภายใต้องค์ประกอบของสายโซ่แห่งคุณค่าอาหาร (food value chain) นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย (2549) ศูนย์ข้าวชุมชนทางรอดของชาวนาไทย. เอกสารประกอบปาฐกถาพิเศษในการสัมมนา เรื่อง การพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อมรวิชช์ นาครทรรพ (2546) การพัฒนานโยบายและแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ