การส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของเทศบาลตำบล ในจังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • Nutchanun Wongmoolithikorn 0619393365 และ 0951591562

คำสำคัญ:

นวัตกรรม, การพัฒนาท้องถิ่น, จิตสาธารณะ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของเทศบาลตำบลในจังหวัดเชียงใหม่  รวมถึงลักษณะของนวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่ได้รับการส่งเสริมโดยเทศบาลตำบลในจังหวัดเชียงใหม่  การวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน โดยในขั้นตอนที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ผู้ตอบแบบสอบถามคือปลัดเทศบาลตำบล จำนวน 78 แห่ง ตอนที่ 2 เป็นการวิจัยกรณีศึกษา เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของนวัตกรรมสังคม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยกรณีศึกษาครั้งนี้ คือแบบสัมภาษณ์  สำหรับผู้ให้ข้อมูล คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในโครงการนวัตกรรมสังคม   ที่ปรากฏข้อมูลจากผลการวิจัยในขั้นตอนที่ 1 ว่า เป็นโครงการนวัตกรรมสังคม ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเทศบาลตำบล ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 45 แห่ง

ผลการวิจัยพบว่า นวัตกรรมสังคมที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนโดยเทศบาลตำบล ในจังหวัดเชียงใหม่  มีจำนวนทั้งสิ้น 80 โครงการ โดยมีเทศบาลที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมสังคม มากที่สุดคือ 4 โครงการ และมีเทศบาลตำบลถึง 33 แห่ง ที่ไม่มีการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมสังคม สำหรับบทบาทของในการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมสังคม สามารถจำแนกบทบาทออกได้เป็น 5 ด้าน โดยจัดลำดับของการแสดงบทบาทจากมากไปน้อย ได้ดังนี้ 1) บทบาทในการสนับสนุนด้านงบประมาณ 2) บทบาทในการสนับสนุนด้านการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3) บทบาทในการสนับสนุนด้านวิชาการและข้อมูลต่าง ๆ 4) บทบาทในการสนับสนุนด้านการสร้างและขยายเครือข่ายของนวัตกรรมสังคม 5) บทบาทในการสนับสนุนด้านการย่องย่อง/ให้รางวัล  นอกจากนี้ จากการศึกษาลักษณะของนวัตกรรมสังคม สามารถจัดแบ่งโครงการนวัตกรรมสังคมที่พบ ออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสวัสดิการสังคม 2) ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและอาชีพ 3) ด้านการส่งเสริม/อนุรักษ์ประเพณีและศิลปวัฒนธรรม 4) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5) ด้านสาธารณสุข และ 6) ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยภายในชุมชน 

ข้อเสนอแนะ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งถือเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และมีภารกิจโดยตรงในการตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาภายในพื้นที่ ควรมีบทบาทอย่างจริงจังในการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นให้ในทุกๆมิติให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการเป็นต้นแบบขององค์กรแห่งนวัตกรรม รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศให้คนในชุมชนได้พัฒนาคุณสมบัติที่สำคัญในการเป็นนักนวัตกรรมสังคม คือ  มีจิตสาธารณะ  พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม  และสามารถสื่อสารเพื่อถ่ายทอดแนวคิดและองค์ความรู้กับผู้อื่นได้ อันนำมาซึ่งความผาสุกของสังคมและของประเทศชาติสืบไป

References

กีรติ ยศยิ่งยง. (2552). องค์การแห่งนวัตกรรม แนวคิดและกระบวนการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แก้วตา จันทรานุสรณ์ และกีรติพร จูตะวิริยะ. (2555). โครงการวิจัยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมในฐานะนวัตกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการบริหารนโยบายสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบริบทการกระจายอำนาจ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

โกวิทย์ พวงงาม. (2552). ประชาคมท้องถิ่น: การส่งเสริมและเผยแพร่นวัตกรรมท้องถิ่น. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. 50(5), 27.

โกวิทย์ พวงงาม. (2552). ประชาคมท้องถิ่น: สำรวจนวัตกรรมท้องถิ่นที่โดดเด่น. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. 57(4), 33.

ฐิติมา จันทรวิสิทธิ์. (2553). การวิเคราะห์งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : กรณีศึกษาเทศบาลตำบลไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

วุฒิสาร ตันไชย. (2552). ยุทธศาสตร์การปกครองท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: เอ็กซเปอร์เน็ท.

อลงกรณ์ คูตระกูล. (2553). นวัตกรรมสังคม: กรณีศึกษาโครงการของท้องถิ่นในเขตภาคเหนือของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-01-04