ข้อจำกัดในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์โดยชุมชนมีส่วนร่วมพิจารณาจากบริบทของกฎหมาย

Main Article Content

ธันวา เบญจวรรณ
ชุติพงศ์ สมทรัพย์

บทคัดย่อ

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (Ecotourism) เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป็นการไปเยือนแหล่งธรรมชาติเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงคุณค่าของระบบนิเวศน์ ช่วยเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น โดยมีลักษณะสำคัญที่อาศัยธรรมชาติเป็นฐานหลัก (Nature-based Tourism) ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นในระบบนิเวศน์ธรรมชาติ เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมจนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ


แม้การจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในประเทศไทยจะเป็นการรักษาสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ 2 ด้าน คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านหนึ่งและการท่องเที่ยวอีกด้านหนึ่ง แต่การจัดการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยกฎหมายนั้น บริบทของกฎหมายยังมีลักษณะเป็นการห้ามปฏิบัติและบังคับให้ปฏิบัติ ส่วนการจัดการด้านการท่องเที่ยว ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมไว้เป็นการเฉพาะ กฎหมายเพียงเปิดช่องให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในแง่ของบทบาทในกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เท่านั้น นำมาซึ่งปัญหาการขาดความตระหนักรู้ในคุณค่าของธรรมชาติและระบบนิเวศน์ การขาดความรู้และความเข้าใจในรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวที่เหมาะสมต่อการให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน


กลุ่มกฎหมายสำคัญที่มีผลโดยตรงต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในส่วนของแหล่งธรรมชาติ ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการควบคุมดูแลและพัฒนาการท่องเที่ยว ข้อที่น่าสนใจ คือความขัดแย้งกันเองในวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การไม่เอื้อต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ลักษณะความผิดและโทษ ความย้อนแย้งกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และความด้อยประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย


แนวทางในการลดบริบทของกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด อันมีผลโดยตรงต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในประเทศไทย ได้แก่ การปรับแก้ปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ป่าและพื้นที่อุทยานกับพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและชัดเจน และการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

Article Details

บท
บทความวิชาการ

References

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช. (2552). ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2552. สืบค้นจาก http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER2/DRAWER027/GENERAL/DATA0000/00000296.PDF

ก้องภพ ภู่สุวรรณ. (2557). ปรับเชิงรุก ปลุกเชิงรับ จับกระแสนักท่องเที่ยวจีน. ธนาคารแห่งประเทศไทย FAQ FOCUSED AND QUICK, 89 (June 19, 2014), 1-9.

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ. (2559). สังคมกับกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ. (2504). สืบค้นจาก http://project-wre.eng.chula.ac.th

มานิตย์ จุมปา. (2549). คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 พร้อมข้อเสนอสำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2550). (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ: นิติธรรม.

สมคิด เลิศไพฑูรย์. (2548). กฎหมายรัฐธรรมนูญ หลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

สมชัย เบญจชย. (2549). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์. เอกสารประกอบการบรรยายหลักสูตรการบริหารจัดการป่า ชุมชนและการพัฒนาอาชีพด้านป่าไม้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549

สมยศ เชื้อไทย. (2540). ความรู้กฎหมายทั่วไป. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

สมยศ เชื้อไทย. (2553). กฎหมายมหาชนเบื้องต้น. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

สฤษฎ์ แสงอรัญ. (2548). การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือเชิงนิเวศน์ (Ecotourism). สืบค้นจาก http://www.dnp.go.th/park/ sara/tour/eco.html

สุเนติ คงเทพ. (2559). อธิบายหลักกฎหมายอุทยานแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: บัณฑิตอักษร.

อภิญญา เลื่อนฉวี. (2548). มาตรการทางกฎหมายการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอุทยานแห่งชาติ. วารสารกฎหมายธุรกิจบัณฑิตย์, 5(1), 30-68.