การศึกษาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนท้องถิ่นและโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ

Main Article Content

นราวัลย์ พูลพิพัฒน์
สุรางคนา ฤกษ์สมบูรณ์ดี
ปทุมวดี ศิริสวัสดิ์
กิตติพงษ์ วงศ์ทิพย์
สิระ สมนาม

บทคัดย่อ

            งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพัฒนาการหลักสูตรการสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาและการนำหลักสูตรไปใช้ของโรงเรียนท้องถิ่นและโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ 2) ศึกษาวิธีการจัดการเรียนการสอนการอ่าน การเขียนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนท้องถิ่นและโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ และ 3) ศึกษาสัมฤทธิผลของการใช้หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนการอ่าน การเขียนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนท้องถิ่นและโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยโรงเรียนท้องถิ่นสังกัดการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน ครูที่ได้รับรางวัลด้านการเรียนการสอน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวิเคราะห์หลักสูตร แบบวิเคราะห์แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย แบบสัมภาษณ์ครู แบบสัมภาษณ์ศึกษานิเทศก์ แบบสังเกตการสอน แบบทดสอบการอ่าน การเขียนภาษาไทย และประเด็นสนทนากลุ่มย่อย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน


            ผลการวิจัยพบว่า 1) พัฒนาการหลักสูตรการสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนท้องถิ่นและโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือแบ่งเป็น 6 ช่วง ส่วนการนำหลักสูตรไปใช้พบว่า โรงเรียนทุกโรงใช้หลักสูตรแกนกลาง พ.ศ. 2551 เป็นหลัก บางโรงเรียนได้จัดหลักสูตรเสริมโดยนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาเป็นเนื้อหาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 2) วิธีการจัดการเรียนการสอนการอ่าน การเขียนภาษาไทยของครูพบว่า มี 9 วิธี วิธีการสอนการอ่าน การเขียนที่ประสบความสำเร็จ คือ วิธีการสอนซ่อมเสริมที่เน้นการฝึกปฏิบัติ และเอาใจใส่ ฝึกฝนให้นักเรียนอ่านเขียนซ้ำ ๆ อยู่เสมอ และ 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนท้องถิ่นมีผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านออกเสียงศัพท์ที่กำหนดให้ การเขียนสะกดคำจากภาพที่กำหนดให้ การแต่งประโยค และการอ่านคิดวิเคราะห์สูงกว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ในทุกด้าน ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนท้องถิ่นมีผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านออกเสียง การแต่งประโยค และการอ่านคิดวิเคราะห์สูงกว่านักเรียนของโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ แต่มีผลสัมฤทธิ์ด้านการเขียนสะกดคำจากภาพที่กำหนดให้น้อยกว่านักเรียนของโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมวิชาการ. (2546). แนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ.

กระทรวงศึกษาธิการ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2551). ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

จินตนา มัธยมบุรุษ. (2544). การศึกษาล้านนาสู่สหัสวรรษใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น.

จุฬาลักษณ์ นัคคีย์, ยุพิน อินทะยะ และศศิธร อินตุ่น. (2558). การจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อประสมเพื่อพัฒนาทักษะการออกเสียงและการเขียนคำศัพท์ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านแม่อูคอหลวง. วารสารบัณฑิตวิจัย, 6(1). 13 – 23.

ณัฐกร สงคราม. (2553). การออกแบบและพัฒนามัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ทิศนา แขมมณี. (2554). ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 14). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พิจิตรา ธงพานิช (ทีสุกะ). (2557). การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฎี หลักการ แนวคิด ทิศทาง แนวโน้ม. (พิมพ์ครั้งที่ 4). นครพนม: คณะศิลปศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม.

รมินตรา วรงค์ปกรณ์, ศศิธร อินตุ่น และยุพิน อินทะยะ. (2559). การใช้สื่อเพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านและเขียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. วารสารบัณฑิตวิจัย, 7(1). 15 – 29.

สนิท สัตโยภาส. (2532). การสร้างแบบฝึกเพื่อสอนซ่อมเสริมนักเรียนชาวเขาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีปัญหาด้านการออกเสียงตัวสะกดไม่ชัดเจน. เชียงใหม่: สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.

สนิท สัตโยภาส. (2556). การสอนภาษาไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.

สรัสวดี อ๋องสกุล. (2544). การศึกษาล้านนาสู่สหัสวรรษใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น.

สุมิตรา จันทร์เงา. (2560). รัชกาลที่ 9 ครูของแผ่นดิน ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ครูเรียมสิงห์ทร. นิตยสารคู่สร้างคู่สม, 38(985), 52-58.

อรุณี สถิตย์ภาคีกุล. (2524). วิวัฒนาการของหลักสูตรและวิธีสอนภาษาไทยระดับประถมศึกษา. (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).