บูรณาการองค์รวม : แนวทางคุ้มครองมรดกโลก กรณีอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวคิดหลักการเกี่ยวกับแนวทางคุ้มครองมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร ในลักษณะการดำเนินงานแบบ “บูรณาการองค์รวม” จากการสังเคราะห์ผลงานวิจัยของผู้เขียน “เรื่องการบริหารจัดการมรดกโลกว่าด้วยมาตรการทางกฎหมายในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม กรณีศึกษา: นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร” และจากการศึกษาเอกสารข้อมูลหลักฐานและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แนวคิดสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนภารกิจคุ้มครองมรดกโลกให้เกิดผลสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย คือ การดำเนินงานในลักษณะ “บูรณาการองค์รวม” โดยการทำให้หน่วยงานที่สัมพันธ์กันรวมทั้งทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำหน้าที่อย่างประสานกลมกลืนเป็นองค์รวม แนวคิดนี้มีแนวทางในการคุ้มครองมรดกโลก ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ การบริหารจัดการ การอนุรักษ์ และการคุ้มครอง ดังนี้ (1) การบริหารจัดการมรดกโลก ต้องอาศัยการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งร่วมมือระหว่างองค์กรและภายนอกองค์กร กระทำโดยพหุวิชาการ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีวิสัยทัศน์ร่วม (Share Value) เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้คำปรึกษา วางแผน สนับสนุน ดำเนินการ ติดตามประเมินผลและร่วมรับผลที่เกิดขึ้น เป็นต้น โดยส่งเสริมให้มีการศึกษา วิจัย ฝึกอบรมและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง มีการกระจายงานสู่ท้องถิ่นอาจจัดตั้งหน่วยอนุรักษ์ในเขตพื้นที่ชุมชน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรและตัวแทนจากชุมชนร่วมดำเนินการ (2) การอนุรักษ์มรดกโลก มีกระบวนการและแนวทางหลากหลายวิธีในการดูแลรักษาโบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรมได้แก่ การป้องกันทาง กฎหมายการสงวนรักษา การบูรณะปฏิสังขรณ์ การจัดอบรมให้ความรู้ การบรรจุเนื้อหาในหลักสูตร การจัดโครงการและกิจกรรมร่วมกัน โดยดำเนินภารกิจอย่างต่อเนื่อง และให้แต่ละภาคส่วนมีส่วนร่วมกันทำงาน เพื่อสร้างความตระหนักรับผิดชอบร่วม สร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองในการเป็นเจ้าของร่วมกัน มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาช่วยดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์โบราณสถานให้คงสภาพในรูปแบบเดิม และจัดสภาพแวดล้อมให้กลมกลืนหรือบูรณภาพกับสภาพแวดล้อมโดยรอบได้ตามอนุสัญญามรดกโลก กฎบัตรสากล (3) การคุ้มครองมรดกโลก โดยใช้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติโบราณสถาน อนุสัญญาระหว่างประเทศ กฎบัตรสากล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง การออกกฎหมายรับรองสนับสนุนการอนุรักษ์โบราณสถาน เช่น ร่างกฎบัตรอิโคโมสไทย (ICOMOS) และมาตรการสร้างแรงจูงใจมาใช้สำหรับการอนุรักษ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและทันสถานการณ์ ภายใต้การบูรณาการแผนงานและกิจกรรมร่วมกัน โดยอาจกระทำในลักษณะมาตรการทางกฎหมาย ทางเศรษฐศาสตร์ ทางผังเมืองและทางสังคม โดยอาจจะกำหนดเงินค่าชดเชยแก่เจ้าของอาคารสิ่งก่อสร้างหรืออาจกำหนดพื้นที่นั้นให้เป็นเขตพื้นที่ที่มีกิจกรรมที่สอดคล้องกับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ต้องการอนุรักษ์ เช่นกำหนดให้เป็นเขตหมู่บ้านหัตถกรรมที่มีการทำจักรสาน อาจเป็นวิสาหกิจชุมชน มีแหล่งสาธิตและจำหน่ายสินค้า นอกจากเป็นการสร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนแล้วยังเป็นการสร้างบรรยากาศและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตควบคู่กันไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
Article Details
อยู่ระหว่างการปรับปรุง (ลิขสิทธิ์และการรับผิดชอบ)
References
2 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, “มรดกโลกทางวัฒนธรรม”, กรุงเทพฯ, กรมศิลปากร, 2551.
3 สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)”, กรุงเทพฯ: สํานักนายกรัฐมนตรี, 2554.
4 ธาตรี มหันตรัตน์ และ สิริพัฒถ์ ลาภจิตร, “รูปแบบการบริหารจัดการมรดกโลกที่เหมาะสมกับนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร”, รายงานการวิจัยนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2555.
5สุภางค์ จันทวานิช, “วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research-PAR)”, กรุงเทพฯ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2531.
6 พระมหาเสถียร ถาวรธมฺโม, “การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานของพระสังฆาธิการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา”, รายงานการวิจัยเสนอมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2554.
7 กรมทรัพยากรธรณี, “โครงการกำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา”, กรุงเทพฯ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2553.
8 X. Greffe, “Is Heritage an Asset or a Liability”, Journal of Cultural Heritage, Vol. 5, Issue 3, 2004, pp. 301-309.
9 บริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน,สำนัก, “แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2553–2556 ภาคใต้ฝั่งอันดามัน”, ภูเก็ต, 2552.
10 อรพินท์ สพโชคชัย, “ภาคีการพัฒนาสนับสนุนแนวทางการทำงานในระดับพื้นที่”, 25 กันยายน 2546 เอกสารการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 2546.
11 ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์, “การจัดการและการบริหารสาธารณะสมัยใหม่”, กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, 2553.
12 กัลยาณี สูงสมบัติ, “เทคนิคการจัดการสมัยใหม่”, สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2555, สืบค้นจาก http://uhost.rmutp.ac.th/kanlayanee.so/L2/2-1.htm.
13 วิชญา ติยะไพบูลย์สิน, “มาตรการในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม:กรณีศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551.
14 ชุมพล พืชพันธ์ไพศาล และ ลำยอง ปลั่งกลาง, “การมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม”, งานวิจัย, 2554.
15 โครงการพิทักษ์มรดกสยาม, บทสรุปการเสวนาเรื่อง“อยุธยา: มรดก(โลก)ที่น่าเป็นห่วง” วันที่ 21 กันยายน 2554 ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์, กรุงเทพฯ, 2554.