กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ชุมชนม้งห้วยหาน จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

อดิศร ภู่สาระ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ และวิธีการสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของผู้อาวุโสประจำตระกูลแซ่ชุมชนม้งห้วยหาน จังหวัดเชียงราย ผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการวิจัยคือผู้อาวุโสประจำตระกูลแซ่ จำนวน9 คน และผู้ใหญ่บ้านจำนวน 4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปรากฏการณ์วิทยา เพื่อสรุปถึง แก่นสาระ จากประสบการณ์การสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ


            ผลการวิจัยพบว่า 1) สังคมม้งยึดถือความสัมพันธ์ทางเครือญาติตระกูลแซ่ แต่ละชุมชนจะมีผู้อาวุโสประจำตระกูลแซ่ทำหน้าที่ดูแลปกครองสมาชิกตระกูลแซ่ในชุมชนให้ประพฤติปฏิบัติตามระเบียบของชุมชน ตัดสินข้อพิพาทระหว่างสมาชิกตระกูลแซ่ รวมถึงเป็นตัวแทนสมาชิกตระกูลแซ่จัดการข้อพิพาทระหว่างสมาชิกตระกูลแซ่กับสมาชิกตระกูลแซ่อื่น และม้งต่างชุมชน 2) ลำดับการจัดการข้อพิพาทในชุมชนม้ง เริ่มต้นจากผู้อาวุโสประจำตระกูลแซ่ ของคู่กรณี หากไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้จะดำเนินการต่อยังผู้ใหญ่บ้าน ผลของการตัดสินถือเป็นข้อยุติ ผู้ที่ไม่ยอมรับ ผลการตัดสินจะถูกลงโทษทางสังคมจากชุมชน  3) รูปแบบการสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นการกำหนดลำดับความรับผิดชอบทางสังคมต่อบุคคลตั้งแต่ ระดับครัวเรือน ระดับตระกูลแซ่ และระดับสังคมม้ง โดยหัวหน้าครัวเรือน ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่สมาชิกกระทำต่อชุมชน ระดับตระกูลแซ่ต้องรับผิดชอบต่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล และการประกอบพิธีกรรมที่สร้างความพึงพอใจให้กับผี และวิญญาณบรรพบุรุษ ระดับชุมชน บุคคล ครัวเรือน และชุมชน ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของชุมชน และจารีตประเพณีม้ง 4) วิธีการสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นไปตามหลักการคือ 1) หลักบุคคลนิยม การให้คู่กรณีมีโอกาสบอกเล่าเหตุการณ์ และแสดงความคิดเห็นถึงวิธีการยุติข้อพิพาท 2) หลักการมีส่วนร่วม กรณีพิพาททุกกรณีจะต้องมีผู้อาวุโสประจำตระกูลแซ่เข้าร่วม ระบบเครือญาติตระกูลแซ่จะไม่ยินยอมให้สมาชิกตระกูลแซ่ต้องเผชิญปัญหาข้อพิพาทเพียงลำพัง 3) หลักการชดใช้เยียวยา หากเกิดความเสียหาย ผู้เสียหายจะต้องได้รับการชดใช้เยียวยาตามความสมดุล ระหว่างความพึงพอใจของผู้เสียหายกับความสามารถของผู้กระทำผิด และ4)หลักการคืนคนดีสู่สังคม คู่กรณี ครัวเรือน และเครือญาติตระกูลแซ่สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ


 

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กมลชนก คงเจริญ. (2556) การยอมรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่นำมาจัดการความขัดแย้งของชุมชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา.วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 5(2), 17-44

กุณฑ์ฤทธิ์ หาญจริง. (2550) แนวทางพัฒนาการบังคับคดีที่ถูกต้องตามกฎหมายและปฏิบัติได้โดยการไกล่เกลี่ย.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมป์.

ญาณี มหาวงศนันท์. (2557) การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับความผิดฐานทำร้ายร่างกาย. การค้นคว้าอิสระนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ทนัทรยา ธีรัชธาโชติ. (2557) การไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทโดยยุติธรรมชุมชน. วิทยานิพนธ์ศิลป ศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณ. (2559) การจัดการความขัดแย้งเพื่อสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของชุมชนพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช. รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

พระมณเฑียร สังข์เงิน. (2544) การควบคุมทางสังคมของชุมชนชาวเขา. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์. (2558) การมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการยิติธรรมเชิงสมานฉันท์ทางอาญาของไทย. วารสารเกษมบัณฑิต,16(2),111-124

สุชาดา ทวีสิทธิ์. (2562) การเข้าถึงความยุติธรรมในระบบกฎหมายพหุลักษณ์ของกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ในประเทศไทย:ผู้หญิงชาติพันธุ์ม้ง และผู้หญิงมาเลย์-มุสลิม.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์เดือนตุลา.

สุรศักดิ์ บุญเทียน. (2564) การพัฒนาคนบนฐานอัตลักษณ์วิถีวัฒนธรรมม้ง:กรณีศึกษา บ้านเจดีย์โคะ ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก. วารสาร มจร การพัฒนาสังคม, 6(1), 1-13

สุริยะ ป่าหลวง. (2561) กระบวนการจัดการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทศาลแขวงลำปาง.การค้นคว้าอิสระรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.

สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์. (2544). 13 ชนเผ่าในลาวตอนใต้ ปฏิสัมพันธ์และการปรับตัวสู่วิถีชีวิตปัจจุบัน. รายงานการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)