การนำนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 6901-2560 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่เนื้อไปปฏิบัติ: กรณีศึกษาสำนักงานปศุสัตว์เขต 1

Main Article Content

อัญชลินทร์ สิงห์คำ
ศุภชัย ยาวะประภาษ

บทคัดย่อ

              การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติ รวมถึงปัญหา อุปสรรค และปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ และล้มเหลวในการนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 6901-2560 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่เนื้อไปปฏิบัติในพื้นที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 1 ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 84 คน  ประกอบด้วย บุคลากรในสังกัดสำนักงานปศุสัตว์เขต สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ คณะผู้ตรวจประเมินฟาร์ม สำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก สัตวบาลผู้ดูแลประจำฟาร์ม เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 1 และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มไก่เนื้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการตรวจสอบข้อมูล จัดหมวดหมู่และเปรียบเทียบประเด็นต่าง ๆ ตามกรอบแนวคิดและทฤษฎีหลักที่ใช้ศึกษา ได้แก่ ตัวแบบของ Van Meter and Van Horn ตัวแบบของ Mazmanian and Sabatier และตัวแบบของ George C. Edwards


              ผลการวิจัยพบว่า นโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 6901-2560 เป็นนโยบายที่ไม่ได้บังคับแต่ดำเนินนโยบายภายใต้ความสมัครใจของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ การนำนโยบายไปปฏิบัติเน้นการจัดการอบรมให้แก่เกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่เนื้อผู้สนใจขอรับรองมาตรฐานฟาร์ม เพื่อจะได้นำความรู้ไปดำเนินการปรับปรุงพัฒนาฟาร์มให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ผู้สนใจขอรับรองมาตรฐานฟาร์มได้ปรับปรุงพัฒนาฟาร์มตามข้อกำหนดและยื่นความประสงค์ขอรับรองมาตรฐานฟาร์ม กรมปศุสัตว์โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงทำการตรวจประเมินและให้การรับรองมาตรฐานฟาร์ม ตัวแสดงในนโยบายที่สำคัญ คือ กรมปศุสัตว์และหน่วยงานภายในกรมปศุสัตว์ ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์เขต สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายในนโยบาย คือ เกษตรผู้เลี้ยงไก่เนื้อในระหว่างการนำนโยบายไปปฏิบัติ พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการปรับปรุงฟาร์มและบริหารจัดการฟาร์มให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามนโยบายรวมถึงไม่พบการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือในการปรับปรุงฟาร์มให้ได้ตามข้อกำหนด หรือสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ  เพื่อผลิตไก่เนื้อเพื่อป้อนโรงงานแปรรูปไก่เพื่อการส่งออก ฟาร์มประกัน บริษัทที่ประกอบกิจการฟาร์มไก่เนื้อ มีสัดส่วนการรับรองมาตรฐานฟาร์มมากกว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เพื่อจำหน่ายในประเทศและเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อทั่วไป โดยปัจจัยที่ส่งผลอันดับหนึ่งต่อการนำนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ปัจจัยด้านตัวนโยบาย และปัจจัยด้านทัศนคติของกลุ่มเป้าหมาย  รองลงมาคือ ปัจจัยด้านการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ส่วนปัจจัยสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินนโยบายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ได้แก่ ปัจจัยด้านงบประมาณ และบุคลากร ปัจจัยด้านหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ และปัจจัยด้านการสื่อสารระหว่างองค์กร  ข้อค้นพบสำคัญในงานวิจัย คือ การนำนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ บทบาทของเอกชนและหน่วยงานรัฐเป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบพันธมิตรที่ส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมปศุสัตว์ (2564). ข้อมูล Open Data กรมปศุสัตว์. สืบค้นจาก https://dld.go.th/th/index.php/th/service-people/opendata-menu/22054-opendata-25630612

ชูชาติ ปุษยะนาวิน. (2555). การนำนโยบายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติของกรุงเทพมหานคร.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม), สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, กรุงเทพฯ.

นพดล อุดมวิศวกุล. (2548). การเข้าสู่วาระและการกำหนดนโยบายสาธารณะ : ศึกษากรณีนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

พิชญา วิทูรกิจจา. (2562). ปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพสู่การปฏิบัติ: กรณีศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

มยุรี อนุมานราชธน. (2551). นโยบายสาธารณะ. กรุงเทพฯ: แอคทีฟ พริ้นท์.หน้า 226-229.

วรเดช จันทรศร. (2552). ทฤษฎีการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: สมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย (TURA). หน้า 147-165.

ศุภชัย ยาวะประภาษ. (2557). นโยบายสาธารณะ. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.หน้า 110-118.

ศูนย์สารสนเทศการเกษตร. (2563). สถิติการค้าสินค้าเกษตรไทยกับต่างประเทศ ปี 2563. กรุงเทพฯ : สำนักงานเศรษฐกิจเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. หน้า 10-12.

Edwards, G.C. III. (1980). Implementing Public Policy. Washington, D.C.: Congressional Quarterly Press.10-12.

Sabatier, P., & Mazmanian, D. (1980). The Implementation of Public Policy: A Framework of Analysis. Policy studies journal, 8(4), 538-560.

Sabatier, P. A. (1986). Top-down and Bottom-Up Approaches to Implementation Research: A Critical Analysis and Suggested Synthesis. Journal of public policy,6(1), 21-48.

Van Meter. Donald S. and Van Horn. Cark E. (1975). The Policy Implementation Process: A conceptual framework. Administration and Society, 6 (4), 445-487