การประยุกต์หลักพุทธธรรมกับการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ตำบลโพนงาม อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในพระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาของการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในตำบลโพนงาม อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และ 3) เพื่อการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมกับการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ตำบลโพนงาม อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า 1. หลักพุทธธรรมในการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในพระพุทธศาสนา พบว่า หลักธรรมที่ผู้สูงอายุได้ปฏิบัติ และมีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุ คือ หลักเบญจศีล เบญจธรรม ไตรสิกขา บุญกิริยาวัตถุ 3 การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน (กัมมัฏฐาน) ซึ่งเป็นหลักพุทธธรรม ที่ทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืน สุขภาพกาย สุขภาพจิตดี มีความสอดคล้องกับประเพณี ฮีต 12 ของพื้นที่ 2. สภาพปัญหาของการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในตำบลโพนงาม อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 1) ปัญหาด้านร่างกาย ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้สูงอายุที่พบมากที่สุด เพราะเป็นไปตามความเสื่อมของร่างกาย ส่วนมากจะเป็นโรคเบาหวานความดัน และโรคประจำตัวอื่นๆ จากการรับประทานอาหารตามใจตนเอง 2) ปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ เพราะผู้สูงอายุบางคนกลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวการอยู่คนเดียว บางคนเป็นโรคซึมเศร้า ทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ 3) ปัญหาด้านครอบครัวและสังคม ส่วนมากจะเป็นปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เพราะผู้สูงอายุนั้นจะรอเงินจากลูกหลานที่ส่งมาให้ ซึ่งมีผลต่อฐานะทางสังคมที่มีการแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่มีฐานะทางสังคมที่ต่างกัน การสร้างความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องยาก 3. การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมกับการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ตำบลโพนงาม อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี พบว่า เป็นกิจกรรมที่มีส่วนร่วมของ องค์การบริหารส่วนตำบล ชุมชน และวัด ในการใช้กิจกรรมของชุมชนและประเพณีของพื้นที่ในการบูรณาการหลักธรรมกับกิจกรรมของชุมชน 1) การแก้ปัญหาด้านร่างกาย ทางด้านโรงเรียนผู้สูงอายุเน้นเรื่อง การมีส่วนร่วมในกิจกรรม เช่น ออกกำลังกายทุก ๆ เย็น ทางด้านวัดและชุมชน เน้นกิจกรรมการปฏิบัติธรรม เช่น เดินจงกรม การทำสมาธิ เป็นต้น 2) การแก้ปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ คือ การรักษาศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เพื่อสร้างความอดทนอดกลั้น ลดความโกรธ ความโลภ เจริญสติ โดยอาศัยประเพณี ฮีต 12 ที่มีกิจกรรมงานบุญเป็นประจำของทุกเดือนและวันพระ 15 ค่ำ ของทุกเดือน 3)การแก้ปัญหาด้านสังคมและครอบครัว เน้นกิจกรรมเข้าใจการเปลี่ยนแปลงตามหลักธรรม ด้วยการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจ เป็นการความร่วมมือระหว่างวัด ชุมชน และอบต. โดยอาศัยโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ และ 4) การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและรายได้ เน้นในเรื่องการสร้างองค์ความรู้เพื่อที่จะร่วมกลุ่มของผู้สูงอายุในการผลิตสินค้าในพื้นที่ เรียนรู้วิธีการจำหน่ายในรู้แบบออนไลน์ การบูรณาการสิ่งที่มีอยู่ให้ได้สิ่งใหม่ การทำการเกษตรสมัยใหม่ ตามหลักความต้องการขึ้นพื้นฐาน คือ ปัจจัย 4
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2534). พุทธศาสนากับการแนะแนว. กรุงเทพมหานคร : สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550). ธรรมะสำหรับผู้สูงอายุ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ธรรมสภา.
พระมหาเชาวฤทธิ์ นรินฺโท (ทรัพย์สวัสดิ์). (2561). การศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักภาวนา 4 : กรณีศึกษาผู้สูงอายุบ้านห้วยหอย ตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ. ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระมหาอุทัย กตคุโณ (ประดิษฐ์ศร). (2564). การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยใช้หลักวิถีพุทธ ในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี. สารนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
วิบูลย์พงศ์ พันธุนนท์. (2565). ศึกษาวิเคราะห์โยนิโสมนสิการของผู้สูงอายุเพื่อการดำเนินชีวิตในพระไตรปิฎก. ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สุดารัตน์ สุดสมบูรณ์. (2559). สวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุในประเทศไทย. วารสารเทคโนโลยีภาคใต้. 7(1). 75-85.