สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น :ความแตกต่างในการวิพากษ์วิจารณ์ ตามหลักกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression) ไว้ในรัฐธรรมนูญ และศาลสูงสุดได้วางบรรทัดฐานไว้ว่าเสรีภาพดังกล่าวนั้นเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในระบบตลาดเสรี (Free Market of Ideas) ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่สมูบรณ์ สามารถวิเคราะห์ เข้าใจและตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลในสังคมอุดมปัญญานั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง การปิดกั้นการใช้เสรีภาพดังกล่าวจึงไม่อาจจะกระทำได้
สิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อสารมวลชน (Freedom of Press) ในการวิพากษ์วิจารณ์และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ จึงเป็นสิทธิพื้นฐาน (Fundamental Rights) ที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นี้ ในขณะเดียวกันสิทธิและเสรีภาพนี้ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าประเทศนั้นให้ความเคารพในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะในการบริหารรัฐกิจ และกรณีการเป็นบุคคลสาธารณะ (Public Figure) ซึ่งหมายถึงผู้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนและทำกิจการเพื่อสาธารณะ (Public Service) จะต้องมีความอดทนต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและสื่อสารมวลชนในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีของผู้ที่ได้รับอาณัตจากประชาชนให้ใช้อำนาจบริหารรัฐกิจ ย่อมจะต้องมีความอดทนต่อการตั้งคำถามและการตรวจสอบอย่างเข้มข้น การตรากฎหมายในการปิดกั้นการใช้เสรีภาพดังกล่าวจึงสามารถกระทำได้อย่างจำกัดที่สุด รวมถึงการฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อสารมวลชนและประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมประชาธิปไตยที่เคารพหลักนิติรัฐและนิติธรรม
อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพดังกล่าวย่อมมีขอบเขต เพราะสิทธิและเสรีภาพนี้เป็นสิทธิสัมพัทธ์ที่จะต้องเกี่ยวพันกับปัจเจกชนอื่น รวมถึงความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม รัฐจึงอาจใช้อำนาจในการจัดระเบียบการใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้ หากรัฐสามารถอธิบายให้เห็นถึงประโยชน์อันสำคัญยิ่งยวด จึงมีความจำเป็นอย่างที่สุดที่จะต้องใช้วิธีการในการจัดระเบียบหรือควบคุมการแสดงออกดังกล่าวได้ด้วยวิธีการที่รุนแรงน้อยที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่กฎเกณฑ์นั้นจะมีผลถึงขนาดที่จะทำให้การแสดงออกไม่สามารถกระทำได้เลยนั้น การแสดงออกนั้นจะต้องมีภยันตรายร้ายแรงต่อสังคมอย่างชัดแจ้งอย่างแท้จริงเท่านั้น การที่รัฐจะใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจึงเป็นกรณีข้อยกเว้นและที่จำกัดอย่างมาก
หากเปรียบกับประเทศไทย จะพบว่ามีการใช้กฎหมายอาญาว่าด้วยหมิ่นประมาท รวมถึงการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงการวินิจฉัยคดีที่ยังไม่แน่นอนของศาลในการคุ้มครองบุคคลสาธารณะ และผู้พิพากษาในบางกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการพิพากษาอรรถคดี นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายพิเศษในการควบคุมการโฆษณาสินค้าประเภทต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการห้ามโฆษณาแอลกอฮอล์ ที่มีลักษณะเป็นการห้ามอย่างเด็ดขาดแล้ว หากพิจารณาว่าประเทศไทยยอมรับและเคารพหลักเสรีภาพดังกล่าว และเชื่อว่าประชาชนจะมีสติปัญญาเพียงพอแล้ว การปิดกั้นเสรีภาพและการจำกัดการโฆษณาแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาดจึงไม่น่าสอดคล้องหลักรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ค.ศ.1966 ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันและผูกพันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 อย่างชัดแจ้ง
บทความนี้จึงพยายามศึกษาเปรียบเทียบหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเฉพาะในกรณีของประชาชนและสื่อมวลชนในการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น โดยเฉพาะบุคคลที่ถือเป็นบุคคลสาธารณะ และหลักการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย ตลอดจนวิเคราะห์บางกรณีของคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง ข้าราชการ ตลอดจนผู้พิพากษา ฯลฯ ที่ดูเหมือนจะห่างไกลจากหลักการให้ความเคารพเสรีภาพดังกล่าวในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมากในอนาคตต่อไป
Article Details
O ความคิดเห็นใดๆ ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นของผู้เขียน (ความคิดเห็นใดๆ ของผู้เขียน กองบรรณาธิการวารสารนิติสังคมศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย)
O กองบรรณาธิการ CMU Journal of Law and Social Sciences ไม่สงวนสิทธิ์ในการคัดลอกแต่ให้อ้างอิงแหล่งที่มาด้วย
References
ภาษาไทย
สาวิตรี สุขศรี, พันตำรวจเอก ศิริพล กุศลสิลป์วุฒิ และอรพิน ยิ่งยงวัฒนา, รายงานวิจัยเรื่อง ผลกระทบจากพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐ กับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ซึ่งนำเสนอต่อมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2555.
ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ, เอกสารประกอบคำบรรยายวิชากฎหมายมหาชนชั้นสูง หลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยปทุมธานี, 2552.
ภาษาอังกฤษ
John E. Nowak, Ronald D. Rotunda, Principle of Constitutional Law, Thomson & West, 2004
Steven L. Emauel, Constitutional Law, Aspen Law & Business Publisher, 2003
เอกสารอื่น ๆ และ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, สาระสำคัญกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ว่าด้วยสาระสำคัญ และคำแถลงตีความ, ออนไลน์http://www.rlpd.go.th/rlpdnew/images/rlpd_1/International_HR/2557/tran_ICCPR-2.pdf
Australian Human Rights Commission, Background paper: Human rights in cyberspace, 4 permissible limitations of the ICCPR right to freedom of expression, https://www.humanrights.gov.au/publications/background-paper-human-rights-cyberspace/4-permissible-limitations-iccpr-right-freedom
Human Rights Committee, International Covenant on Civil and Political Rights, General Comment No.34, 12 September 2011, http://www2.ohchr.org/english/bodies/hrc/docs/gc34.pdf
United Nations Human Rights, Office of the High Commissioner for Human Rights, International Covenant on Civil and Political Rights, http://www.ohchr.org/en/professionalinterest/pages/ccpr.aspx
เดลินิวส์ออนไลน์ (6 พฤษภาคม 2557) อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง บก.ผู้จัดการ หมิ่นบิ๊กสันต์หลีนักข่าวสาว, ออนไลน์ http://www.dailynews.co.th/crime/235539
ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์,(18 ตุลาคม 2547) ‘มติชน’ ควักกระเป๋า 25 ล้านจ่าย ‘เสรีพิศุทธ์, ออนไลน์ http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9470000068799
ไทยรัฐออนไลน์ (27 เมษายน 2558) การเมือง : ศาลยกฟ้อง ‘มัลลิกา’ หมิ่นประมาท ‘ยิ่งลักษณ์’ คดี ว.5 โฟร์ซีซั่นส์, ออนไลน์ http://www.thairath.co.th/content/495476
ไทยรัฐออนไลน์ (28 มกราคม 2558) ‘จตุพร’จุก ศาลจำคุก 2 ปี คดีหมิ่น ‘อภิสิทธิ์’ ไม่รอการลงโทษ, ออนไลน์ http://www.thairath.co.th/content/477628
ข่าวสด (4 สิงหาคม 2558) ศาลยกฟ้องเทพไทหมิ่นประมาท ด่า’ทักษิณ’ เป็นปอบ ไม่ผิด, ออนไลน์ http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1438673779
ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ (10 มิถุนายน 2558) ฎีกายกฟ้อง “เทพไท” ไม่หมิ่น “ปลอดประสพ” กล่าวหาเป็นคนระบอบทักษิณ, ออนไลน์ http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9580000065596
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (24 กรกฎาคม 2558) ศาลฎีกายืนคุก 1 ปี ‘พร้อมพงศ์-เกียรติอุดม’ ไม่รอลงอาญา, ออนไลน์ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/657944
มติชนออนไลน์ (8 ตุลาคม 2558), การเมือง : ศาลฎีกายกฟ้อง “สุเทพ” หมิ่น “แม้ว” อยากเป็นประธานาธิบดี ชี้ติชมโดยสุจริต อ้างคำ “มีชัย”, ออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444293064
หนังสือกระทรวงสาธารณสุข ที่ สธ 0407.4/ ว 525 ลงวันที่ 16 กันยายน 2557 เรื่อง ชี้แจงข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551