การรับรู้และพฤติกรรมด้านความปลอดภัยของพนักงานสายปฏิบัติการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
Awareness and Behavior in Safety of Operations Officers, PTT, Public Company Limited
Keywords:
การรับรู้ พฤติกรรม ความปลอดภัยในการทำงานAbstract
งานวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานสายปฏิบัติการ ปตท. (2)การรับรู้และช่องทางการรับรู้ด้านความปลอดภัยของประชากร (3)พฤติกรรมด้านความปลอดภัยของประชากร และ (4) เปรียบเทียบพฤติกรรมด้านความปลอดภัยจำแนกตามข้อมูลส่วนบุคคลของประชากร ประชากรประกอบด้วยพนักงานสายปฎิบัติการทั้งหมดของปตท.สี่สายงานจำนวน 1,852 คน ขนาดของกลุ่มตัวอย่างกำหนดจากสูตรทาโร่ ยามาเน่ เท่ากับ 329 คน ในงานวิจัยนี้ใช้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 340 คนเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การเก็บตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ สถิติเชิงพรรณา ประกอบด้วยค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ประกอบด้วยการวิเคราะห์ปัจจัย การทดสอบสมมติฐานด้วยค่าสถิติ t การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นชาย มีอายุ 31 – 40 ปี อายุการทำงานไม่เกิน 5 ปี เป็นพนักงานสังกัดหน่วยงานสายปฏิบัติการคลัง มีการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรี มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านความปลอดภัยสูงเกินร้อยละ 91 ทุกด้าน มีแต่เพียงข่าวสารขั้นตอนการสอบสวนอุบัติเหตุที่มีการรับรู้เพียงร้อยละ 77 อาจเป็นเพราะไม่ต้องการเผยแพร่เพราะอาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความอับอายและรับความกดดัน ช่องทางการรับรู้ข้อมูลด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสามอันดับแรกได้แก่ ข่าวสารทางอีเมล์ การสนทนาแลกเปลี่ยนด้านความปลอดภัย และจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ประสานงานในหน่วยงาน ในส่วนของการวิเคราะห์ปัจจัย พบว่า ตัวกำหนดพฤติกรรมด้านความปลอดภัย 3 ปัจจัยหลักได้แก่ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยง พฤติกรรมแสดงความละเอียดถี่ถ้วน และพฤติกรรมการมีส่วนร่วม อนึ่ง พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีเพศ อายุ อายุการทำงาน ตำแหน่งที่แตกต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านความปลอดภัยแตกต่างกันในบางประเด็น แต่ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกันไม่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในพฤติกรรมด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05