การวางแผนการปลูกข้าวในระบบเกษตรนาแปลงใหญ่ด้วยวิธีการตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์

ผู้แต่ง

  • มนตรี สิงหะวาระ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

คำสำคัญ:

เกษตรนาแปลงใหญ่ ข้าว การตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์ แบบจำลองหลายเป้าหมาย การแลกเปลี่ยน

บทคัดย่อ

          การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงแนวทางการตัดสินใจของชุมชนที่มีต่อการปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงแนวทางการใช้ทรัพยากรเพื่อการเพาะปลูกอย่างเหมาะสมภายใต้แนวทางเกษตรนาแปลงใหญ่ มีขอบเขตด้านพื้นที่ศึกษาใน อ.พาน จ.เชียงราย โดยรวบรวมข้อมูลภาคสนามจากเกษตรกรตัวอย่าง 400 ราย  และการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับการปลูกพืชแบบหลายวัตถุประสงค์แบบหลายช่วงเวลา ร่วมกับการมีส่วนร่วมของตัวแทนเกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญด้วยวิธี MCDM เพื่อกำหนดความสำคัญของพืชทางเลือกและหาแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่กำหนด  ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์(criteria) การปลูก ข้าวญี่ปุ่น มากที่สุด ด้วยค่าน้ำหนัก 0.179 รองลงมา คือ ข้าวเจ้านาดำ  ข้าวเหนียวนาดำ กระเทียม  ข้าวเจ้านาหว่าน และข้าวเหนียวนาหว่าน ตามลำดับ

          การศึกษาค้นพบว่า ความผันผวนของราคาผลผลิตพืชส่งผลให้เกิดการใช้ที่ดินและแรงงานสูงขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตชดเชยราคาที่ต่ำลงและมีผลให้ต้นทุนค่าเสียโอกาส(opportunity cost) ของวิธีการปลูกข้าวนาดำสูงขึ้น เพราะฉะนั้น แนวทางการปลูกข้าวด้วยวิธีนาดำในช่วงนาปีถือเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ในขณะที่นาปรังสามารถเลือกปลูกได้ทั้งกระเทียมและข้าวญี่ปุ่น โดยรูปแบบการรวมกลุ่มเพื่อการวางแผนการใช้ทรัพยากรรวมกันตามแนวทางนาแปลงใหญ่ร่วมกับการกำหนดเป้าหมายด้านการตลาดที่ชัดเจน จะทำให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพถือเป็นวิธีที่เหมาะสมต่อการลดความเสี่ยงด้านผลตอบแทนจากความไม่แน่นอนด้านราคาและปริมาณผลผลิตตกต่ำจากภัยแล้ง นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานถือเป็นแนวทางสำคัญต่อการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของเกษตรกรในอนาคต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-02-23