การพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเองด้วยการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่เหมาะสมกับเกษตรกรในตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

ผู้แต่ง

  • บุญลดา คุณาเวชกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

คำสำคัญ:

ศักยภาพ, การพึ่งตนเอง, การถ่ายทอดความรู้, เกษตรกร

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์ ต้นทุน/ศักยภาพ ปัจจัย และเงื่อนไข ที่มีผลต่อการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ รวมทั้งเพื่อศึกษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพของเกษตรกร และเพื่อพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเองด้วยการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่เหมาะสมกับเกษตรกรในตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ผลการวิจัยพบว่า สถานการณ์ ต้นทุน/ศักยภาพ ปัจจัย และเงื่อนไขที่มีผลต่อการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพของเกษตรกรในตำบลหนองกุลา นั้น พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ทำนา และไร่อ้อย จบการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 32.4 ระยะเวลาในการทำการเกษตรไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 62.1 มีขนาดพื้นที่ถือครอง 5-20 ไร่ ร้อยละ 51.7 รายได้จากภาคการเกษตรเฉลี่ย 193,862.07 บาทต่อปี รายได้นอกภาคการเกษตร เฉลี่ย 43,809.52 บาทต่อปี โดยรายจ่ายในภาคการเกษตรนั้นพบว่า มีรายจ่ายเฉลี่ย 2,430.77 บาทต่อไร่ โดยมีรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมีมากที่สุด 883.33 บาทต่อไร่ องค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพของเกษตรกร พบว่าในตำบลหนองกุลานั้นมีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนตำบลหนองกุลา ปราชญ์ชาวบ้านมีความรู้ทางด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ในส่วนการพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเองด้วยการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่เหมาะสมกับเกษตรกรในตำบลหนองกุลา มีขั้นตอนโดยเริ่มจากชุมชนประสบปัญหาในการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของพืช มาร่วมคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเข้าร่วมฝึกอบรมทักษะพื้นฐานการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ใช้การชักชวนเพื่อนบ้านที่สนิทมาเข้าร่วมการประชุม จากนั้นมีการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ด้วยการสนับสนุนปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมทดลองปฏิบัติด้วยตนเองภายในแปลงจริงและในแปลงรวม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ขั้นสุดท้ายมีการศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคอื่นๆ ผลจากการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรด้วยการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวพบว่า ปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพจะเป็นในเรื่องของ ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ช่วงอายุของเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มสูงวัยมีอายุมากกว่า 50 ปี จังหวะเวลาที่สามารถจัดได้ในช่วงบ่ายของแต่ละวัน ในส่วนผลสำเร็จ เกษตรกรมีความตระหนักรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหา ทำให้มีความร่วมมือตั้งใจเรียนรู้ และมีความต้องการที่จะจัดตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-09