คุณภาพชีวิตในการทำงานและคุณภาพชีวิตของพนักงานโรงแรม ในเขตกรุงเทพมหานคร ภายใต้สถานการณ์ COVID-19
คำสำคัญ:
คุณภาพชีวิตในการทำงาน คุณภาพชีวิต สถานการณ์ COVID-19บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานโรงแรม 2) ศึกษาคุณภาพชีวิตของพนักงานโรงแรม 3) เพื่อเปรียบเทียบลักษณะประชากรศาสตร์กับคุณภาพชีวิตในการทำงานและคุณภาพชีวิตของพนักงานโรงแรมในเขตกรุงเทพมหานคร ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบสะดวก จากกลุ่มตัวอย่างพนักงานโรงแรมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน ด้วยแบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานด้วย t-test และ One-way ANOVA ผลการศึกษาพบว่า 1) ด้านคุณภาพชีวิตในการทำงาน โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง โดยด้านสภาพการทำงานที่มีความปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการบูรณาการทางสังคมหรือการทำงานร่วมกัน 2) ด้านคุณภาพชีวิต โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยด้านปัจจัยทางวัฒนธรรม มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านความพึงพอใจในชีวิต 3) การเปรียบเทียบลักษณะประชากรศาสตร์กับคุณภาพชีวิตในการทำงาน พบว่า เพศ อายุ สถานภาพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ต่างกันมีคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานโรงแรมในเขตกรุงเทพมหานคร ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 0.01 และ 0.001 และการเปรียบเทียบลักษณะประชากรศาสตร์กับคุณภาพชีวิต พบว่า อายุ สถานภาพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ต่างกันมีคุณภาพชีวิตของพนักงานโรงแรมในเขตกรุงเทพมหานคร ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 0.01 และ 0.001