การศึกษาสภาพการณ์ของการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอาหารในพื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต
คำสำคัญ:
สภาพการณ์ การจัดการ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ตบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการณ์ของการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอาหารในพื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต การวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยขั้นตอนที่ 1 การศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร (Documentary) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการวิเคราะห์แก่นสาระ(Thematic Analysis) ขั้นตอนที่ 2 การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 15 คน ซึ่งสุ่มมาจากกลุ่มบุคคลภาครัฐ ภาคเอกชน/ผู้ประกอบการ และภาคชุมชน ใช้วิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis) และขั้นตอนที่ 3 นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอาหารในพื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต
ผลการศึกษา พบว่า 1) ด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว จุดแข็ง เป็นพื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ตเป็น 1 ใน 36 เมืองเก่าของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่เมืองเก่า จุดอ่อน พื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ตมีการสร้างเรื่องราวและที่มาของอาหารค่อนข้างน้อย โอกาส ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ตที่มีความได้เปรียบ อุปสรรค ข้อจำกัดในการผสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 2) ด้านการบริการการท่องเที่ยว จุดแข็ง พื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ตมีสถานประกอบการอาหารที่หลากหลาย จุดอ่อน สถานประกอบการอาหารยังขาดมาตรฐานในการวัดคุณภาพของอาหารและร้านอาหาร โอกาส ความร่วมมืออันดีของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ช่วยส่งเสริมการจัดงานมหกรรมอาหารพื้นเมืองภูเก็ต อุปสรรค ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการขนส่งและความแออัดของชุมชนเมือง และ 3) ด้านการตลาดการท่องเที่ยว จุดแข็ง พื้นที่เมืองเก่าจังหวัดภูเก็ตได้รับการส่งเสริมการจัดกิจกรรมตลาดอาหาร จุดอ่อน การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างชุมชนเข้าด้วยกันยังมีค่อนข้างน้อย โอกาส จังหวัดภูเก็ตเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารระดับโลก อุปสรรค ข้อจำกัดในเรื่องภาพลักษณ์ด้านอัตราค่าบริการการคมนาคมขนส่งที่มีราคาสูง