แนวทางการส่งเสริมการรับรู้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองรอง ของนักท่องเที่ยวชาวไทย จังหวัดชัยภูมิ
คำสำคัญ:
ภาพลักษณ์การท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, เมืองรอง, จังหวัดชัยภูมิบทคัดย่อ
การส่งสริมการท่องเที่ยว เมืองรอง เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นเพื่อการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในช่วงผ่อนคลายจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรน่า (COVID-19) บทความวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองรองของนักท่องเที่ยวชาวไทยจังหวัดชัยภูมิ และนำเสนอแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองรองจังหวัดชัยภูมิ เป็นการศึกษางานวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods) โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติเชิงอนุมาน และใช้การวิจัยเชิงคุณภาพดำเนินการเป็นระยะสอง ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ของผู้ให้ข้อมูลหลักสำคัญ แบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลสรุปอธิบายผลพรรณนา และเชิงเนื้อหา (Content analysis) พบว่า โดยภาพรวม นักท่องเที่ยวชาวไทยมีการรับรู้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองรอง จังหวัดชัยภูมิ ในด้านแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านอาหารพื้นถิ่น ผลการทดสอบเปรียบเทียบความแตกต่าง พบว่า นักท่องเที่ยวที่มีปัจจัยส่วนบุคคล เพศ อายุ การศึกษา รายได้ และอาชีพที่แตกต่างกันมีการรับรู้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองรองจังหวัดชัยภูมิ แตกต่างกันในทุกด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ ผลการวิจัยเชิงคุณภาพที่ความสอดคล้องกับผลวิจัยเชิงปริมาณ ได้สรุปเป็น แนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองรอง จังหวัดชัยภูมิ 1) การพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Learning Resources and Creative Activity) 2) การส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงวัฒนธรรมด้านอาหารพื้นถิ่น (Food Tourism)