ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สนับสนุนเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ผู้แต่ง

  • วิทวัต ปัญจมะวัต สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

คำสำคัญ:

ยุทธศาสตร์, การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา, เขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

บทคัดย่อ

           การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพและองค์ประกอบการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สนับสนุนเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 2) พัฒนายุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สนับสนุนเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3) ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และเสนอแนวนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สนับสนุนเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 15 คน ครูประจำการ จำนวน 256 คน ครูฝึกในสถานประกอบการ จำนวน 73 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 344 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) การวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ครูประจำการ ครูฝึกในสถานประกอบการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบรายงานข้อมูลตามตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ ประเด็นการประชุม และการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา

          ผลการวิจัย พบว่า
1. องค์ประกอบการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สนับสนุนเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ 1) พัฒนาระบบการเรียนการสอนเน้นสร้างองค์ความรู้และการใช้เทคโนโลยี 2) พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 3) เสริมสร้างโอกาสการศึกษาวิชาชีพอย่างเสมอภาคและบูรณาการการจัดการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4) การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และครูฝึกในสถานประกอบการ และ5) สร้างความเข้มแข็งระบบความร่วมมือและเครือข่ายในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา

2. ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สนับสนุนเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีสมรรถนะเน้นสร้างองค์ความรู้และการใช้เทคโนโลยี เพื่อการมีงานทำและเป็นผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศมี 2 กลยุทธ์ 6 ตัวชี้วัด และ 3 โครงการ 2) การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มี 1 กลยุทธ์ 2 ตัวชี้วัด และ 1 โครงการ 3) การเสริมสร้างโอกาสการศึกษาวิชาชีพอย่างเสมอภาคและบูรณาการการจัดการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มี 2 กลยุทธ์ 5 ตัวชี้วัด 3 โครงการ 4) การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และครูฝึกในสถานประกอบการ ให้มีศักยภาพด้านความรู้ ทักษะ และความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มี 2 กลยุทธ์ 5 ตัวชี้วัด 2 โครงการ และ5) การสร้างความเข้มแข็งระบบเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มี 1 กลยุทธ์ 3 ตัวชี้วัด 2 โครงการ โดยยุทธศาสตร์ที่พัฒนาขึ้น ผ่านการประเมินด้านความสอดคล้อง ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุด และผลการทดลองใช้ยุทธศาสตร์ที่ 4 และยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้วยโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ พบว่า ผลการทดลองผ่านเกณฑ์ Baseline ตามที่ตัวชี้วัดกำหนดไว้ทุกตัวชี้วัดและผู้ให้ข้อมูลมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก

3. ผลการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สนับสนุนเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากดำเนินโครงการตามตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ และ 8 กลยุทธ์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ผ่านเกณฑ์ Baseline ตามที่ตัวชี้วัดกำหนดไว้ทุกตัวชี้วัดและผู้ให้ข้อมูลมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด และข้อเสนอแนวนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สนับสนุนเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ส่วนใหญ่คือ พัฒนากำลังคนให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย การจัดสรรงบประมาณ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระบบการติดตามและประเมินผล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-07-20