แนวทางพัฒนาประสิทธิภาพของงานตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • นิตยา อำไพกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
  • ขวัญนรี กล้าปราบโจร มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

คำสำคัญ:

การพัฒนา, ประสิทธิภาพ, งานตรวจสอบภายใน

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการตรวจสอบภายในที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานตรวจสอบภายใน และเพื่อวิเคราะห์แนวทางพัฒนาประสิทธิภาพของงานตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในประเทศไทย เป็นงานวิจัยแบบผสมผสานระหว่างงานวิจัยเชิงปริมาณ และงานวิจัยเชิงคุณภาพ ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ บุคลากรสำนักงานตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏในประเทศไทย จำนวน 126 คน โดยเลือกตัวอย่างตามช่วงเวลา และผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ซึ่งมีค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาอยู่ระหว่าง 0.80-1.00 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน การวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุคูณ และการวิเคราะห์เนื้อหา กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05

          ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยการตรวจสอบภายในที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในประเทศไทย ประกอบไปด้วย ด้านนโยบายและการสนับสนุนของผู้บริหาร ด้านความพร้อมของระบบสารสนเทศ ด้านความสามารถของผู้ตรวจสอบภายใน และด้านกระบวนการตรวจสอบภายใน 2) แนวทางพัฒนาประสิทธิภาพของงานตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏในประเทศไทย มีแนวทางพัฒนาดังนี้ โดยผู้บริหารระดับสูงควรนำผลการตรวจสอบไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยให้มีผลการปฏิบัติงานที่ถูกต้องเป็นไปตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ผู้บริหารระดับสูงควรมีการกำหนดนโยบายและแนวทางในการมอบหมายงานอย่างชัดเจนและกำหนดอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณ ทรัพยากร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทันสมัยที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน และหัวหน้างานตรวจสอบภายในกำกับดูแลผู้ตรวจสอบภายในให้ปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบภายในอย่างเคร่งครัด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-07-21