แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ผู้แต่ง

  • สุวิมล จันโททัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • เขวิกา สุขเอี่ยม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • นุชประวีณ์ ลิขิตศรัณย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำสำคัญ:

ผลกระทบทางการท่องเที่ยว, การจัดการการท่องเที่ยว, ปกติใหม่, การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, สถานการณ์ปัจจุบันของหมู่บ้านอีต่อง

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมต่อการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านอีต่อง สถานการณ์ปัจจุบันของหมู่บ้านอีต่อง และแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นปกติใหม่เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวนทั้งสิ้น 15 คน โดยมีแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างจากการนำแนวคิดทฤษฎีด้านผลกระทบทางการท่องเที่ยว 3 ด้าน สถานการณ์ปัจจุบันของหมู่บ้านอีต่อง และทฤษฎีการจัดการสมัยใหม่ (POLC) ในการจัดการการท่องเที่ยว 4 ด้าน ผลการวิจัยด้านผลกระทบต่อการท่องเที่ยว พบว่า ด้านบวก คือ ชุมชนมีรายได้และอาชีพหลักจากการท่องเที่ยวและอยู่ร่วมกันแบบครอบครัว มีความสามัคคี ยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีมลพิษลดน้อยลง ผลกระทบด้านลบ พบว่า ภายหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้รายได้และอัตราการจ้างงานลดลง ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนลดน้อยลง งดการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม และทรัพยากรทางธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู ด้านสถานการณ์ปัจจุบันของหมู่บ้านอีต่อง พบว่า ชุมชนมีความพร้อมในด้านการท่องเที่ยว แต่ในด้านการเตรียมพร้อมปรับตัวด้านการท่องเที่ยวของชุมชนต่อสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ยังมีบางด้านที่ยังต้องมุ่งเน้นในการพัฒนาเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น กระบวนการคัดกรองนักท่องเที่ยว การตรวจสอบไทม์ไลน์ของนักท่องเที่ยว และการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อให้เพียงพอต่อขีดความสามารถในการรองรับและสามารถดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย ด้านแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นปกติใหม่เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พบว่า มีครบทุกองค์ประกอบ แต่ในแต่ละองค์ประกอบยังไม่เด่นชัด ต้องเร่งพัฒนาโดยการให้ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแล ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน และภาคนักท่องเที่ยว โดยด้านการวางแผน ชุมชนควรเพิ่มแผนรองรับนักท่องเที่ยวท่องเที่ยวในยุควิถีชีวิตปกติใหม่ ด้านการจัดการองค์กร ควรกำหนดแนวทางในการให้บริการนักท่องเที่ยวตามมาตรการกระทรวงสาธารสุข (SHA) และกรมควบคุมโรค ด้านผู้นำ ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ควรทำหน้าที่สื่อสารนโยบายต่างๆ ให้แก่ทุกภาคส่วนได้รับทราบและใช้มาตรการในการควบคุมกำกับดูแลทุกพื้นที่ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การจัดโซนพื้นที่ในการให้บริการ การควบคุมในเรื่องปริมาณของนักท่องเที่ยว และด้านการควบคุม ควรมีการจัดตั้งกลุ่มในการตรวจสอบการให้บริการของแต่ละธุรกิจให้เป็นไปตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข หากฝ่าฝืนควรมีบทลงโทษ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-09-28