มุมมองของชาติพันธุ์ไทยทรงดำต่อหน่วยงานภายนอกที่มีบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ กรณีศึกษา กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

ผู้แต่ง

  • อรพรรณ มากพันธุ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ประภัสสร กาวินตุ้ย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ปุณยวีร์ อินทร์ทองคำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สุภณิดา พวงผกา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พิมพ์ธรรม เอื้อเฟื้อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำสำคัญ:

ไทยทรงดำ, อัตลักษณ์, ชาติพันธุ์

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบทบาทของหน่วยงานภายนอกในการพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทยทรงดำในพื้นที่ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และ 2) ศึกษามุมมองของชาติพันธุ์ไทยทรงดำ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่มีต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภายนอกในการพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ โดยใช้แนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพในการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร บทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากแหล่งต่าง ๆ คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญแบบเจาะจงจาก เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเขาย้อย ประธานชมรมไทยทรงดำ ผู้สูงอายุ หรือปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์ไทยทรงดำ รวม 7 คน แล้วทำการสัมภาษณ์เชิงลึก รวมข้อมูลที่ได้และตรวจสอบข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบแบบสามเส้า

          ผลจากการศึกษา พบว่า 1) หน่วยงานภายนอกที่มีบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทยทรงดำในพื้นที่ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี คือ เทศบาลตำบลเขาย้อย เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทยทรงดำในพื้นที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี 2) มุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำต่อการเข้ามาดำเนินงานของหน่วยงานภายนอกในการพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทยทรงดำในพื้นที่ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ผู้วิจัยพบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำที่มีต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภายนอกสามารถแบ่งได้เป็น 2 มุมมอง มุมมองแรกเห็นว่า การดำเนินงานของหน่วยงานภายนอกในการพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทยทรงดำเป็นสิ่งที่สมควรปฏิบัติ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตหรือธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำในพื้นที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ในขณะที่มุมมองที่สองเห็นว่า การดำเนินงานของหน่วยงานภายนอกในการพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทยทรงดำถือเป็นการอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทั้งยังทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำเป็นที่รู้จัก และผู้คนกลับมาสนใจอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไทยทรงดำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเพิ่มเติมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน พัฒนา และฟื้นฟูทั้งการอ่านและการเขียนภาษาไทยทรงดำที่กำลังเลือนหาย จะเป็นประโยชน์และตรงกับความต้องการของไทยทรงดำมากยิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-05-11