การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เรื่อง ภูมิศาสตร์รอบตัว ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้ปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน

ผู้แต่ง

  • ชญาน์นัทช์ ณะวุฒิ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • กัลยา เทียนวงศ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • มนัสนันท์ น้ำสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • สรัญญา จันทร์ชูสกุล มหาวิทยาลัยศิลปากร

คำสำคัญ:

การจัดการเรียนรู้ปรากฏการณ์เป็นฐาน, แนวคิดห้องเรียนกลับด้าน, การสอนภูมิศาสตร์, ความสามารถในการคิดวิเคราะห์

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เรื่อง ภูมิศาสตร์รอบตัว ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้การจัดการเรียนรู้ปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่อง ภูมิศาสตร์รอบตัว ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้ปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน และ 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดสรรเพชญ (ทวีวิทยาคม) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 28 คน ได้มาจากวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนจัดการเรียนรู้รายหน่วย โดยใช้การจัดการเรียนรู้ปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน จำนวน 3 แผนการเรียนรู้ 2) แบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ภูมิศาสตร์รอบตัว และ 4) แบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าทีแบบไม่เป็นอิสระต่อกัน และการวิเคราะห์เนื้อหา

           ผลการวิจัยพบว่า 1) ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้ปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน หลังเรียน (M = 17.75, SD = 2.15) สูงกว่าก่อนเรียน (M = 10.82, SD = 2.00) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้ปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน (M = 21.82, SD = 3.34) สูงกว่าก่อนเรียน (M = 12.82, SD = 2.71) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05 และ 3) ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (M = 4.28, SD = 0.66) นักเรียนเห็นด้วยในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ และด้านบรรยากาศในการเรียนรู้ ตามลำดับ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-12-26